วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมันที่เหมาะสมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
#1
วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมันที่เหมาะสมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
บุญณิศา ฆังคมณี และอาริยา จูดคง
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8

          การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมันที่เหมาะสมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมัน ทำการทดลองในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพัทลุง อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ระหว่างตุลาคม 2556 - กันยายน 2560 โดยใช้พันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี 2 อายุ 5 และ 7 ปี ปลูกในดินเหนียว ชุดดินแกลง วางแผนการทดลองแบบ Randomized complete block design ซึ่งการศึกษาระดับการใช้ซิลิกอน ประกอบด้วย 5 ซ้ำ 4 กรรมวิธี ดังนี้ 1) ให้ปุ๋ยเคมีตามผลการวิเคราะห์ใบ 2) ให้ปุ๋ยเคมีตามผลการวิเคราะห์ใบ + ซิลิกอน อัตรา 500 มิลลิกรัมต่อซิลิกอนต่อต้นต่อปี 3) ให้ปุ๋ยเคมีตามผลการวิเคราะห์ใบ + ซิลิกอน อัตรา 1,000 มิลลิกรัมต่อซิลิกอนต่อต้นต่อปี 4) ให้ปุ๋ยเคมีตามผลการวิเคราะห์ใบ + ซิลิกอน อัตรา 1,500 มิลลิกรัมต่อซิลิกอนต่อต้นต่อปี ส่วนการศึกษาการใช้จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต ประกอบด้วย 4 ซ้ำ 5 กรรมวิธี ดังนี้ 1) 100 เปอร์เซ็นต์ของหินฟอสเฟตตามผลการวิเคราะห์ใบ 2) 100 เปอร์เซ็นต์ของหินฟอสเฟตตามผลการวิเคราะห์ใบ + จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต 3) 75 เปอร์เซ็นต์ของหินฟอสเฟตตามผลการวิเคราะห์ใบ + จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต 4) 50 เปอร์เซ็นต์ของหินฟอสเฟตตามผลการวิเคราะห์ใบ + จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต 5) เปอร์เซ็นต์ของหินฟอสเฟตตามผลการวิเคราะห์ใบ + จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต และทุกกรรมวิธีใส่ปุ๋ยไนโตรเจน โพแทสเซียม แมกนีเซียม และโบรอนตามผลการวิเคราะห์ใบ จากการทดลองพบว่า การใช้ซิลิกอนร่วมกับการให้ปุ๋ยตามผลวิเคราะห์ใบ มีแนวโน้มช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตและผลผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มมากขึ้นกว่าการใส่ปุ๋ยตามผลวิเคราะห์ใบเพียงอย่างเดียว โดยพบว่าการใส่ปุ๋ยเคมีตามผลการวิเคราะห์ใบร่วมกับซิลิกอน อัตรา 1,500 มิลลิกรัมต่อซิลิกอนต่อต้นต่อปี มีแนวโน้มทำให้ปาล์มน้ำมันมีพื้นที่หน้าตัดแกนทางและพื้นที่ใบจริงสูงสุด คือ 26.27 ตารางเซนติเมตร และ 8.9 ตารางเมตรต่อทางใบ โดยมีปริมาณผลผลิตระหว่างปีที่ 2 - 4 อยู่ที่ 3,196, 3,671 และ 3,483 กิโลกรัมต่อไร ตามลำดับ ส่วนในการทดลองการใช้จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟตพบว่า การใส่หินฟอสเฟต 75 เปอร์เซ็นต์ของ ผลการวิเคราะห์ใบ + จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟตมีแนวโน้มทำให้ปาล์มน้ำมันมีพื้นที่ใบสูงสุด คือ 7.41 ตารางเมตรต่อทางใบ และมีผลผลิตทะลายสดเฉลี่ยสูง 2,824 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี คิดเป็น 109.88 เปอร์เซ็นต์ของกรรมวิธีที่ใส่หินฟอสเฟต 100 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับกรรมวิธีใส่หินฟอสเฟต 100 เปอร์เซ็นต์ของผลการวิเคราะห์ใบ + การใส่จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต ซึ่งให้ผลผลิตทะลายสดเฉลี่ยสูงสุด 2,849 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี คิดเป็น 110.86 เปอร์เซ็นต์ ของกรรมวิธีใส่หินฟอสเฟต 100 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ กรรมวิธีใส่หินฟอสเฟต 75 เปอร์เซ็นต์ ของผลการวิเคราะห์ใบ + จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต และกรรมวิธีใส่หินฟอสเฟต 100 เปอร์เซ็นต์ของผลการวิเคราะห์ใบ + จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต มีค่าอัตราส่วนรายได้ต่อต้นทุน (BCR) เท่ากัน คือ 2.04 แต่อัตราส่วนผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (MRR) ของการใส่หินฟอสเฟต 75 เปอร์เซ็นต์ของผลการวิเคราะห์ใบ + จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต มีค่าสูงสุด คือ 486.48 เปอร์เซ็นต์ รองลงมา คือ การใส่หินฟอสเฟต 100 เปอร์เซ็นต์ของผลการวิเคราะห์ใบ + จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟตมีอัตราส่วนผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (MRR) 409.75 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ กรรมวิธีใส่หินฟอสเฟต 75 เปอร์เซ็นต์ของผลการวิเคราะห์ใบ + ใส่จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟตทำให้ดินมีปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ในดินสูงสุด


ไฟล์แนบ
.pdf   57_2560.pdf (ขนาด: 658.73 KB / ดาวน์โหลด: 544)
ตอบกลับ


ข้อความในเรื่องนี้
วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมันที่เหมาะสมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง - โดย doa - 09-17-2018, 10:48 AM



ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม