วิจัยและพัฒนาพันธุ์ทุเรียน
#1
วิจัยและพัฒนาพันธุ์ทุเรียน
ทรงพล สมศรี

โครงการวิจัยที่ 1 โครงการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ทุเรียน
ทรงพล สมศรี และคณะ

          โครงการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ทุเรียน ประกอบด้วย 2 กิจกรรม 14 การทดลอง ดำเนินการโดย สำนักผู้เชี่ยวชาญ สถาบันวิจัยพืชสวนร่วมกับศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ตรัง ชุมพร ยะลา ศรีสะเกษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี สุราษฎร์ธานี สำนักวิจัยและพัฒนาเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก ในระหว่างเดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนกันยายน 2558 ผลการทดลองสรุปได้ดังนี้

          การสำรวจรวบรวมและศึกษาจำแนกทุเรียนที่มีลักษณะดีเด่นที่รวบรวมไว้เดิมและรวบรวมใหม่ ที่ ศวส. จันทบุรี ได้จำนวนไม่น้อยกว่า 600 ตัวอย่างพันธุ์ ศวส.ตรังรวบรวมจากจังหวัดภาคใต้ได้ 182 ตัวอย่างพันธุ์ ศวพ.สุราษฎร์ธานีได้ 34 ตัวอย่างพันธุ์ ศวส.ชุมพรได้ 31 ตัวอย่างพันธุ์ ศวส.ยะลาได้ 54 ตัวอย่างพันธุ์ ซึ่งทั้งหมดได้ทำการศึกษาบันทึกข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับลักษณะทางพฤกษศาสตร์และทางเกษตร

          การคัดเลือกและเปรียบเทียบทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองที่ ศวส.จันทบุรีได้ทำการศึกษาคัดเลือกพันธุ์จำนวน 77 พันธุ์ ได้พันธุ์ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกที่มีคุณลักษณะผลและคุณภาพการรับประทานดี จำนวน 21 พันธุ์ สวพ. 2 คัดเลือกทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองในแหล่งปลูกเขตภาคเหนือตอนล่าง ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ สุโขทัย ได้สายต้นดีเด่น 15 สายต้น

          การคัดเลือกและประเมินทุเรียนลูกผสมชั่วที่ 1 รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ที่ ศวส. จันทบุรี ในลูกผสมชั่วที่ 1 ได้ทำการศึกษาความหลากหลายของลูกผสมจำนวน 14 คู่ผสม ในลักษณะต่างๆ 26 ลักษณะที่ศึกษา และคัดเลือกลูกผสมที่มีความดีเด่นด้านรสชาติและคุณภาพในการรับประทาน มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น (< 105 วัน) ได้ 5 สายพันธุ์ ได้แก่ IIICN63-1-1, IIICN 54-3-6, Iky 21-2-4, Iky21-2-5 และ 10-432-6 ซึ่งสายพันธุ์ 10-432-6 กำลังเสนอเป็นพันธุ์แนะนำ “จันทบุรี 7” มีอายุเก็บเกี่ยวปานกลาง (105 - 135 วัน) ได้ 2 พันธุ์ ได้แก่ 5-451-5 และ IIICN 61-4-4 ซึ่งสายพันธุ์ 5-451-5 กำลังเสนอเป็นพันธุ์แนะนำ “จันทบุรี 8” มีอายุเก็บเกี่ยวยาว (> 135 วัน) ได้ 1 สายพันธุ์ ได้แก่ 5-441-13 ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าว กำลังเสนอเป็นพันธุ์แนะนำ “จันทบุรี 9”นอกจากนี้ได้ลูกผสมที่มีน้ำหนักเนื้อต่อน้ำหนักผลสูงเหมาะต่ออุตสาหกรรมแปรรูป 1 สายพันธุ์ได้แก่ 5-451-5 สำหรับการคัดเลือกและประเมินลูกผสมชั่วที่ 1 รุ่นที่ 2 พบว่าได้ทุเรียนลูกผสมที่มีคุณภาพดีเด่นด้านรสชาติ คุณภาพในการรับประทานและมีเปอร์เซ็นต์การติดผลสูง จำนวน 2 สายพันธุ์ได้แก่ 16-17-2 และ 8-3-2

          การคัดเลือกทุเรียนลูกผสมชั่วที่ 2 และลูกผสมข้ามชนิด/ข้ามพันธุ์ ได้คัดเลือกลูกผสมชั่วที่ 2 ที่มีคุณภาพดีเด่นด้านรสชาติ คุณภาพในการรับประทานและมีเปอร์เซ็นต์การติดผลสูง จำนวน 2 สายพันธุ์ ได้แก่ 5-441-12-14-1 และ 5-441-13-13-9 คัดเลือกทุเรียนลูกผสมข้ามชนิดได้ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ KT×Dg ช (1-7) และ MT×Sp ช.2 (1-4) และคัดเลือกทุเรียนลุกผสมข้ามพันธุ์ได้ 1 สายพันธุ์ได้แก่ MT× KT21

          การศึกษาละเปรียบเทียบทุเรียนลูกผสมพันธุ์ใหม่ในแหล่งผลิตต่างๆ เพื่อกระจายการผลิตและส่งออก จำนวน 24 สายพันธุ์

          ที่ ศวส.จันทบุรี พบว่า มีจำนวน 14 สายพันธุ์ ที่มีการเจริญเติบโตดีและมีคุณภาพในการรับประทานดีเมื่ออายุ 10 ปี ได้แก่ 9-69-5, ICN×M 5-1-1, 10-251-8-2, 10-432-6, ICN7-5-2-2, 11-241-9, 11-341-1, 6-152-5, IIICN5-4-3-18, IIICN6-3-1-5, IIICN6-4, 6-413-7, 6-422-4 และ 7-121-12

          ที่ ศวส.ตรัง ทุเรียนลูกผสม 25 สายพันธุ์อายุ10 ปี มีการเจริญเติบโตด้านความสูงตั้งแต่ 3.7 - 7.6 เมตร เส้นรอบวงลำต้นตั้งแต่ 37.2 - 77.9 เซนติเมตร โดยพันธุ์ 6-413-7 เจริญเติบโตดีที่สุด ให้ผลผลิตตั้งแต่ 2.59 - 16.09 กิโลกรัมต่อต้น จำนวนผลตั้งแต่ 1.5 - 11.5 ผลต่อต้น น้ำหนักผลตั้งแต่ 935 - 2,492 กรัมต่อผล โดยสายพันธุ์ 11-341-1 (จันทบุรี 4) ให้ผลผลิตต่อต้นสูงที่สุด 16.09 กิโลกรัมต่อต้น

          ที่ ศวพ. สุราษฎร์ธานี (แปลงคันธุลี) ทุเรียนลูกผสม 24 สายพันธุ์อายุ10 ปี การเจริญเติบโตด้านความสูงตั้งแต่ 3.75 - 8.65 เมตร โดยสายพันธุ์ 6-413-7 มีความสูงเฉลี่ยมากที่สุด 8.65 เมตร โดยสายพันธุ์ 10-251-8 มีขนาดเส้นรอบวงมากที่สุด 76.54 เซนติเมตร ทุเรียนที่ให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อต้นประมาณ 30 – 60 ผล/ต้น มีจำนวน 13 สายพันธุ์ ส่วนสายพันธุ์ที่เหลือ จำนวน 11 สายพันธุ์ ให้ผลผลิตน้อยกว่า 30 ผลต่อต้น

          ที่ ศวส. ยะลา ทุเรียนลูกผสมจำนวน 24 สายพันธุ์ อายุ 6 ปี มีความเจริญเติบโตด้านความสูงตั้งแต่ 1.21 - 5.34 เมตร เส้นรอบวงลำต้น ตั้งแต่ 11.28 - 48.28 เซนติเมตร โดยปี พ.ศ. 2558 มี 8 สายพันธุ์ ที่สามารถให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้

          การศึกษาการตอบสนองต่อปุ๋ยของทุเรียนลูกผสมที่คัดเลือกแล้ว เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการรับรองพันธุ์พืชใหม่ ได้ดำเนินการทดลองในแปลงทุเรียน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 ถึงเดือนกันยายน 2558 โดยทำการสุ่มเก็บตัวอย่างผลทุเรียนลูกผสมที่คัดเลือกแล้ว 3 พันธุ์ คือ จันทบุรี 1 จันทบุรี 2 และจันทบุรี 3 เปรียบเทียบกับทุเรียนพันธุ์การค้า 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ชะนี และพันธุ์หมอนทอง เพื่อประเมินองค์ประกอบธาตุอาหารในผลทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ โดยการวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารพืชหลัก ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ในส่วนต่างๆ ของผล คือ เนื้อ เปลือก และเมล็ด พบว่าในการเปรียบเทียบทุเรียนลูกผสมจันทบุรี 1, 2, 3 และพันธุ์การค้าอีก 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ชะนี และพันธุ์หมอนทองพบว่า พันธุ์จันทบุรี 1 มีองค์ประกอบธาตุอาหารของผลสดทุเรียน 1 กิโลกรัม สูงสุด คือ มีไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม 3.19, 0.43 และ 3.35 กรัม ตามลำดับ และทุเรียนลูกผสมทั้งสามสายพันธุ์มีสัดส่วนธาตุอาหารใกล้เคียงกันกับพันธุ์ชะนี คือ 3:1:4 ของ N-P2O5-K2O ส่วนพันธุ์เปรียบเทียบอีกพันธุ์ คือ พันธุ์หมอนทองค่อนข้างมีสัดส่วนของปริมาณไนโตรเจนในผลมากกว่าพันธุ์อื่นๆ โดยมีสัดส่วนที่ 2:1:3 ของ N-P2O5-K2O

          เชื้อรา Phytopthora palmivora สาเหตุโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียนที่แยกได้มีสปอร์แรนเจียมขนาด 20.24 - 40.48 X 30.36 - 60.72 ไมครอน การศึกษาปฏิกิริยาของทุเรียน 24 สายพันธุ์ต่อเชื้อราสาเหตุที่แยกได้ด้วยวิธีตัดชำใบพบว่า ใบทุเรียนแสดงความรุนแรงในการเกิดโรคในทุกสายพันธุ์มีลักษณะเป็นแผลขยายออกไปรอบรอยแผลที่ปลูกเชื้อ สายพันธุ์ที่แสดงลักษณะค่อนข้างต้านทานต่อการเกิดโรคโดยให้ค่าเฉลี่ยขนาดของแผลเล็กที่สุด ได้แก่ สายพันธุ์ 6-413-7, ICNxM 5-1-1 (จันทบุรี 1) และ ICN7-5-2-2 (จันทบุรี 2) มีขนาดแผลเท่ากับ 1.295, 1.303 และ 1.320 เซนติเมตร ตามลำดับ และมีสปอร์แรนเจียมที่ตรวจพบในปริมาณต่ำที่ระดับ 1.41, 1.39 และ 1.23 ตามลำดับ สายพันธุ์ที่แสดงความอ่อนแอต่อการเกิดโรคโดยให้ค่าเฉลี่ยขนาดของแผลใหญ่ที่สุด ได้แก่ IIICN 6-1-4-7 และหมอนทอง มีขนาดแผลเท่ากับ 3.363 และ 3.250 เซนติเมตร ตามลำดับ รวมทั้งมีสปอร์แรนเจียมที่ตรวจพบอาศัยอยู่ในระดับสูงที่ 3.23 และ 3.93 ตามลำดับ การตรวจพบสปอร์แรนเจียมที่อยู่บนใบน้อยบ่งบอกถึงลักษณะความต้านทานของสายพันธุ์ทุเรียนนั้นๆ ต่อเชื้อราสาเหตุโรคโดยสปอร์แรนเจียมของเชื้อสาเหตุบนใบทุเรียนสายพันธุ์ที่ค่อนข้างต้านทานซึ่งให้ขนาดแผลเล็กจะมีเชื้อราสาเหตุโรคอาศัยอยู่ในระดับต่ำ สายพันธุ์ที่อ่อนแอซึ่งให้ขนาดแผลใหญ่จะมีเชื้อราสาเหตุโรคมาอาศัยอยู่ในระดับสูง ทุเรียนสายพันธุ์ 6-413-7 ให้ปฏิกิริยาที่มีลักษณะค่อนข้างต้านทานและมีความทนทานต่อการเกิดโรคโดยมีต้นรอดตายจำนวน 50 เปอร์เซ็นต์

          การศึกษาและเปรียบเทียบทุเรียนลูกผสมพันธุ์ใหม่ในเชิงพาณิชย์ในแหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญ ภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

          ภาคตะวันออก ได้คัดเลือกเกษตรกรใน 5 อำเภอ ของจังหวัดจันทบุรี เพื่อทดสอบปลูกทุเรียนลูกผสมจันทบุรี 1, 2, 3 เปรียบเทียบพันธุ์หมอนทอง หลังจากปลูก 6 ปี จาก พ.ศ. 2552 พบว่า การเจริญเติบโตด้านความสูง พันธุ์จันทบุรี 2 มีความสูงของต้นมากที่สุด 6.53 เมตร เส้นรอบวงลำต้นพันธุ์จันทบุรี 3 มากที่สุด 58 เซนติเมตร สำหรับการให้ผลผลิตปีแรก (2558) พันธุ์จันทบุรี2, จันทบุรี3 และ หมอนทอง ให้ผลผลิต 424, 448 และ 649 ผลต่อไร่ตามลำดับ น้ำหนักผลผลิตรวม 700, 1,250 และ 1,447 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ

          ภาคใต้ ได้ทำการปลูกทดสอบทุเรียนลุกผสมจันทบุรี 1, 2, 3, 4, 5, 6 เปรียบเทียบกับพันธุ์การค้า 3 พันธุ์ คือ ก้านยาว หมอนทอง และชะนี ที่ ศวส. ชุมพร เมื่อปี 2558 หลังจากปลูก 6 เดือน พบว่าทุเรียนลูกผสมจันทบุรี 1 มีความสูงมากที่สุด 88.05 เซนติเมตร เส้นรอบวงลำต้น พบว่าพันธุ์หมอนทองมากที่สุด 7.09 เซนติเมตร รองลงมาพันธุ์จันทบุรี 2 และ 1

          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การศึกษาและเปรียบเทียบพันธุ์ทุเรียนลูกผสมพันธุ์ใหม่ในเชิงพาณิชย์ ในแหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเปรียบเทียบพันธุ์ทุเรียนลูกผสมพันธุ์ใหม่ 3 สายพันธุ์ คือ ทุเรียนลูกผสมจันทบุรี 1 จันทบุรี 2 จันทบุรี 3 ดำเนินการที่จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 2 แห่ง คือ 1) ปี 2554 ดำเนินการที่บ้านซำตารมย์ ตำบลตระกาจ อำเภอกันทรลักษ์ โดยเปรียบเทียบพันธุ์ทุเรียนลูกผสมจันทบุรี 1 จันทบุรี 2 จันทบุรี 3 และพันธุ์หมอนทอง 2) ปี 2555 ดำเนินการที่บ้านซำขี้เหล็ก ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ โดยเปรียบเทียบพันธุ์ทุเรียนลูกผสมจันทบุรี 2 จันทบุรี 3 และพันธุ์หมอนทอง ผลการเจริญเติบโตจากทั้ง 2 แห่ง พบว่า ทุเรียนลูกผสมจันทบุรี 2 มีการเจริญเติบโตทางด้านความสูง ขนาดทรงพุ่ม และเส้นรอบวงโคนต้นดีที่สุด

          การทดสอบพันธุ์ทุเรียนจันทบุรี 1, 2 และ 3 ในพื้นที่เกษตรกร ในพื้นที่เกษตรกรจังหวัดตราด อายุ 6 ปี (2558) พบว่า ทุเรียนลูกผสมพันธุ์จันทบุรี 2 มีความสูงมากที่สุด 6.17 เมตร พันธุ์จันทบุรี 3 มีเส้นรอบวงลำต้นมากที่สุด 55 เซนติเมตร พันธุ์จันทบุรี 3 มีความกว้างทรงพุ่มมากที่สุด 4.95 เมตร ด้านการให้ผลผลิต พันธุ์หมอนทอง พันธุ์จันทบุรี 2 และพันธุ์จันทบุรี 1 ให้ผลผลิต19, 13 และ 10 ผลต่อต้น ตามลำดับ

          ในพื้นที่เกษตรกรจังหวัดจันทบุรี อายุ 6 ปี (2558) พบว่า ทุเรียนลูกผสมพันธุ์จันทบุรี 2 มีความสูงลำต้นมากที่สุด 7.37 เมตร พันธุ์หมอนทอง มีเส้นรอบวงลำต้นมากที่สุด 58.08 เซนติเมตร พันธุ์จันทบุรี 2 มีความกว้างทรงพุ่มมากที่สุด 4.74 เมตร ด้านการให้ผลผลิต พันธุ์หมอนทอง พันธุ์จันทบุรี 2 และพันธุ์จันทบุรี 1 ให้ผลผลิต 15, 12 และ 8 ผลต่อต้น ตามลำดับ

          ในพื้นที่เกษตรกรจังหวัดระยอง อายุ 6 ปี (2558) พบว่า พันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตด้านความสูงมากที่สุด คือ พันธุ์จันทบุรี 2 สูงที่สุด 7.95 เมตร รองลงมาเป็นพันธุ์จันทบุรี 3 และหมอนทอง โดยมีความสูง 7.36 และ 7.28 เมตร ด้านเส้นรอบวงต้นพบว่าพันธุ์จันทบุรี 3 มีเส้นรอบวงต้นสูงสุด คือ 55.69  รองลงมาเป็นพันธุ์หมอนทองและจันทบุรี 2 มีค่า 55.31 และ 51.57 เซนติเมตร ตามลำดับ ด้านความกว้างทรงพุ่มพบว่า พันธุ์จันทบุรี 2 มีความกว้างทรงพุ่มสูงสุด 6.10 เมตร รองลงมาเป็นพันธุ์จันทบุรี 3 และ จันทบุรี 1 มีค่า 6.01 และ 5.93 เมตร ตามลำดับ ด้านการให้ผลผลิต พบว่าพันธุ์จันทบุรี 2 มีจำนวนผลต่อต้นสูงสุด 34 ผล โดยมีน้ำหนักเฉลี่ยต่อผล 1.34 กิโลกรัม รองลงมาเป็นพันธุ์หมอนทองและจันทบุรี 3 มีจำนวนผลต่อต้น 24 และ 23 ผล ตามลำดับ รองลงมาเป็นพันธุ์หมอนทองและจันทบุรี 2 มีค่า 55.31 และ 51.57 เซนติเมตร ตามลำดับ ด้านความกว้างทรงพุ่มพบว่า พันธุ์จันทบุรี 2 มีความกว้างทรงพุ่มสูงสุด 6.10 เมตร รองลงมาเป็นพันธุ์จันทบุรี 3 และ จันทบุรี 1 มีค่า 6.01 และ 5.93 เมตร ตามลำดับ ด้านการให้ผลผลิต พบว่าพันธุ์จันทบุรี 2 มีจำนวนผลต่อต้นสูงสุด 34 ผล โดยมีน้ำหนักเฉลี่ยต่อผล 1.34 กิโลกรัม รองลงมาเป็นพันธุ์หมอนทองและจันทบุรี 3 มีจำนวนผลต่อต้น 24 และ 23 ผล ตามลำดับ

          การศึกษาการปรับเปลี่ยนทุเรียนพันธุ์ดั้งเดิมด้วยพันธุ์ลูกผสมใหม่ ได้ทำการคัดเลือกต้นพันธุ์เดิมที่ให้ผลผลิตแล้วแต่ต้องการเปลี่ยนพันธุ์ โดยทำการตัดยอดให้เหลือกิ่งล่าง 1 - 2 กิ่ง เมื่อแตกกิ่งใหม่อายุ 5 เดือน ขนาดกิ่งอ่อนไม่เกิน 1 เซนติเมตร เปลี่ยนพันธุ์ด้วยการติดตา เสียบข้าง และทาบกิ่ง หลังจากนั้น 1 เดือน พบว่า การเสียบข้างมีเปอร์เซ็นต์ที่ให้ผลสำเร็จสูงสุด 70 เปอร์เซ็นต์ จึงทดลองโดยใช้วิธีเสียบข้างกับต้นตอเดิมที่ต้องการเปลี่ยนพันธุ์อีก และพบว่า พันธุ์จันทบุรี 3 กิ่งเจริญเติบโตได้ดีกว่าจันทบุรี1, 2 และทั้ง 3 พันธุ์ สามารถเริ่มออกดอกเมื่ออายุ 2 ปีและติดผลเมื่ออายุ 3 ปี

          การทดสอบพันธุ์ลูกผสมใหม่ในพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาไม้ผลตามพระราชดำริ ต.ท่าหลวง อ.มะขาม จ.จันทบุรี ปลูกทดสอบพันธุ์ลูกผสมพันธุ์จันทบุรี1, 2 , 3 กับพันธุ์หมอนทอง อายุ 6 ปี (2558) พบว่าทุเรียนลูกผสมพันธุ์จันทบุรี 2 มีความสูงมากที่สุด 5.72 เมตร เส้นรอบวงพันธุ์จันทบุรี 3 มากที่สุด 51 เซนติเมตร ความกว้างทรงพุ่มพันธุ์จันทบุรี 3 มากที่สุด 6.03 เมตร และพันธุ์จันทบุรี 3 เริ่มออกดอก ติดผล เมื่ออายุ 5 ปี

          การสร้างลูกผสมใหม่จากทุเรียนสายพันธุ์พื้นเมืองที่มีศักยภาพในเชิงการค้า ได้ทำการศึกษาคัดเลือกพันธุ์ที่จะใช้เป็นพ่อ - แม่พันธุ์ในการผสมพันธุ์ได้ 6 พันธุ์ ได้แก่ กบสุวรณ กระดุม ชายมะไฟ นกหยิบ พวงมณี หมอนทอง ผสมสลับพ่อแม่ได้ 18 คู่ผสม พบว่า กบสุวรรณกับกระดุมมีเปอร์เซ็นต์การผสมติดสูงที่สุด รองลงมา คือ กบสุวรรณกับหมอนทอง และนกหยิบกับหมอนทอง เท่ากับ 63.64 เปอร์เซ็นต์ 61.29 เปอร์เซ็นต์ และ 60 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ และเพาะเมล็ดลูกผสมได้ต้นกล้าลุกผสม 1,373 ต้น นำไปปลูกระยะชิด 4×4 เมตร 1,000 ต้น และอีกส่วนนำไปเสียบข้างบนต้นตอจากพันธุ์ดั้งเดิมที่ให้ผลผลิตแล้ว บำรุงรักษา แล้วทำการคัดเลือกพันธุ์ต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   211_2558.pdf (ขนาด: 10.9 MB / ดาวน์โหลด: 12,027)
ตอบกลับ


ข้อความในเรื่องนี้
วิจัยและพัฒนาพันธุ์ทุเรียน - โดย doa - 12-27-2016, 04:08 PM



ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม