วิจัยและพัฒนาถั่วเขียว
#1
วิจัยและพัฒนาถั่วเขียว
สุวิมล ถนอมทรัพย์

โครงการวิจัยที่ 1 โครงการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ถั่วเขียว

          โครงการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ถั่วเขียว ดำเนินการระหว่างปี 2554 - 2558 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพันธุ์ถั่วเขียวผิวมัน และผิวดำให้มีผลผลิตสูงคุณภาพดีต้านทานโรค และเหมาะสำหรับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ ถั่วงอก และวุ้นเส้น ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ 1) การปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียวผิวมัน 2) การปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียวผิวดำ และ 3) การอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมถั่วเขียว ผลการดำเนินงานปรับปรุงพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์ และประเมินผลผลิตตามขั้นตอนต่างๆ พบว่า ได้พันธุ์ถั่วเขียวผิวมันที่ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 226 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ชัยนาท 36 และกำแพงแสน 1 มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง 54 เปอร์เซ็นต์ เหมาะสำหรับการแปรรูปเป็นวุ้นเส้น มีขนาดเมล็ดโต โดยให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 69 กรัม และเหมาะสำหรับการเพาะถั่วงอก ผ่านการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร เมื่อปี 2555 ชื่อ “ถั่วเขียวผิวมันพันธุ์ชัยนาท 84-1” เกษตรกรให้การยอมรับพันธุ์ ปลูกในพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง นอกจากนี้ในขั้นตอนการเปรียบเทียบพันธุ์ ได้ถั่วเขียวผิวมันสายพันธุ์ดีเด่น CNMB-06-01-40-4 CNMB-06-02-20-5 และ CNMB-06-03-60-7 ที่ต้านทานโรคราแป้ง ผลผลิตสูง และขนาดเมล็ดโต เหมาะสำหรับการแปรรูปเป็นวุ้นเส้น ในขั้นการคัดเลือกพันธุ์ได้สายพันธุ์ทนอุณหภูมิต่ำ และสายพันธุ์ลักษณะฝักขาว จำนวน 15 และ 60 สายพันธุ์ ตามลำดับ สำหรับกิจกรรมการปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียวผิวดำพัฒนาได้สายพันธุ์ดีเด่นที่ให้ผลผลิตสูง ขนาดเมล็ดโต และเหมาะสำหรับการเพาะถั่วงอก 3 สายพันธุ์ ได้แก่ CNBG-CN2-065-53-103-2 ให้ผลผลิต 271 กิโลกรัมต่อไร่ CNBG-CN2-063-53-50-1 ให้ขนาดเมล็ดโต โดยให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 63 กรัม และสายพันธุ์ CNBG-CN2-065-53-56-2 ให้น้ำหนักสดถั่วงอกสุงสุด 6,042 กรัม อัตราการเพาะถั่วงอก 1 : 6 ในขั้นตอนการคัดเลือกพันธุ์ได้ประชากรถั่วเขียวผิวดำผลผลิตสูง ชั่วที่ 4 และ 6 จำนวน 2,346 และ 985 ต้น ตามลำดับ และคัดเลือกขนาดเมล็ดโตชั่วที่ 4 5 และ 7 จำนวน 2,301, 3,265 ต้น และ 132 สายพันธุ์ ตามลำดับ นำเข้าเปรียบเทียบเบื้องต้น 32 สายพันธุ์ สำหรับการศึกษาข้อมูลจำเพาะของพันธุ์ ได้เทคโนโลยีการเพาะถั่วงอกเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ โดยการศึกษาการเพาะถั่วงอกเป็นชั้นๆ แบบคอนโด 7 ระยะ พบว่าการเพาะถั่วงอกที่ระยะ 72 ชั่วโมง แล้วนำออกมาวางในที่ร่ม 48 ชั่วโมง ได้ถั่วงอกคอนโดคลอโรฟิลล์ที่เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ โดยให้ปริมาณโปรตีน วิตามินซี เส้นใยหยาบ และคลอโรฟิลล์สูงสุด เท่ากับ 42.6 เปอร์เซ็นต์ (น้ำหนักแห้ง) 1.8, 11.15 และ 8.07 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ตามลำดับ การศึกษาการต้านทานโรคแอนแทรคโนสของถั่วเขียวผิวดำ ได้ข้อมูลถั่วเขียวผิวดำ 9 สายพันธุ์ ได้แก่ L26-8, L60-8, L28-4, L67-1, L3-8, CNBG-CN2-063-53-64-1, CNBG-CN2-063-53-63-1, CNBG-CN2-066-53-57-1 และ CNBG-CN2-066-53-58-2 ที่ต้านทานโรคแอนแทรคโนส โดยใบแสดงอาการเป็นโรค 1.0 - 8.3 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ใบทั้งหมด สำหรับกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมถั่วเขียว ได้ฐานข้อมูลลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ลักษณะการเกษตร และการให้ผลผลิตเชื้อพันธุกรรมถั่วเขียวผิวดำ ผิวมัน และถั่วในสกุล Vigna จำนวน 1,341 สายพันธุ์ รวมทั้งข้อมูลองค์ประกอบทางเคมีในเมล็ดของเชื้อพันธุกรรมถั่วเขียวผิวดำ จำนวน 446 สายพันธุ์ พบว่ามีปริมาณแป้ง โปรตีน และไขมัน ระหว่าง 40.8 - 78.4, 20.25 - 30.0 และ 0.03 - 3.0 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

โครงการวิจัยที่ 2 โครงการวิจัยเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวให้มีคุณภาพ

          โครงการวิจัยเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวให้มีคุณภาพ ประกอบด้วย 2 กิจกรรม คือ กิจกรรมเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวผิวมัน และเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวผิวดำ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการแบบผสมผสานในการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพถั่วเขียว และ 2 ) ศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวและหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม กิจกรรมวิจัยเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวผิวมัน ด้านเทคโนโลยีการผลิตพบว่า ได้สายพันธุ์ไรโซเบียมที่มีประสิทธิภาพการตรึงไนโตรเจนสูงในห้องปฏิบัติการสำหรับถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 84-1 คือ DASA02002 DASA02020 DASA02042 DASA02166 และ DASA02193 และถั่วเขียวสายพันธุ์ CNMB-06-03-60-7 คือ DASA02001 DASA02006 DASA02009 DASA02042 และ DASA02082 การใช้เชื้อไรโซเบียมร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมีฟอสเฟตอัตรา 2 เท่า (0-6-0) ตามคำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินโดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง พร้อมปลูกและระยะออกดอกช่วยเพิ่มผลผลิตเมล็ดถั่วเขียว และช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน ปุ๋ยฟอสเฟต และปุ๋ยโพแทชเท่ากับ 100 33.3 และ 100 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับการใส่ปุ๋ย อัตรา 9-9-9 กิโลกรัมต่อไร่ แต่การใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมร่วมกับการจัดการดิน ได้แก่ แกลบเผา ปุ๋ยอินทรีย์ และการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ในพื้นที่เขตชลประทานและเขตอาศัยน้ำฝนพบว่า มีผลต่อค่าการตรึงไนโตรเจน จำนวนปม และน้ำหนักปมสดของถั่วเขียว แต่ไม่มีผลต่อผลผลิต การไถกลบซากถั่วเขียวที่อายุ 35 และ 45 วัน หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต 1 และ 2 ครั้ง สามารถเพิ่มผลผลิตฝักสดทั้งเปลือกของข้าวโพดข้าวเหนียวที่ปลูกตามเทียบเท่ากับการใส่ปุ๋ยไนโตรเจน อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ การปลูกถั่วเขียวบนดินเหนียวเขตภาคกลาง และดินร่วนปนทรายเขตภาคเหนือตอนล่างควรมีการให้น้ำจนถึงระยะดอกแรกบาน (R1) ซึ่งจะให้ผลผลิต คุณภาพ และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูงที่สุด ด้านวิทยาการเมล็ดพันธุ์พบว่า การใช้สารอิทิฟอนพ่นก่อนเก็บเกี่ยวทุกอัตรามีผลต่อปริมาณเมล็ดดี แต่ไม่มีผลกระทบต่อความงอกและความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์ แต่การใช้ความเข้มข้นสูงขึ้นถึง 900 ppm. มีผลทำให้ผลผลิตเมล็ด ผลผลิตเมล็ดพันธุ์และคุณภาพเมล็ดลดลง ขณะที่การใช้สารเมพิควอทคลอไรด์พบว่า ไม่มีผลต่อการทำให้ใบถั่วเขียวแห้งและร่วง หรือผลผลิตถั่วเขียวแตกต่างกันทางสถิติ การเก็บเกี่ยวถั่วเขียวด้วยแรงงานคนแบบปลิดฝัก มีผลกระทบต่อผลผลิต คุณภาพ และเปอร์เซ็นต์การสูญเสียเมล็ดขณะเก็บเกี่ยวน้อยที่สุด แต่มีต้นทุนการเก็บเกี่ยวต่อไร่สูงกว่ากรรมวิธีอื่นๆ ขณะที่การเก็บเกี่ยวโดยใช้เครื่องเกี่ยวนวดในระยะฝักสุกแก่ 90% มีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียเมล็ดขณะเก็บเกี่ยว เปอร์เซ็นต์การแตกร้าวของเมล็ด รวมถึงต้นทุนเก็บเกี่ยวต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีเก็บเกี่ยวโดยใช้เครื่องเกี่ยวนวดวิธีอื่นๆ แต่การพ่นสารเคมีให้ต้นแห้งก่อนเก็บเกี่ยวมีการสูญเสียเมล็ดขณะเก็บเกี่ยวสูงสุด การเก็บเกี่ยวถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 84-1 ที่ระยะ 0, 1 และ 2 สัปดาห์หลังสุกแก่ เป็นระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงสีผิวเมล็ดต่ำกว่า แต่มีเปอร์เซ็นต์ความงอกและความแข็งแรงของเมล็ดสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการเก็บเกี่ยวที่ระยะ 3 สัปดาห์หลังสุกแก่ และเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงสีผิวเพิ่มขึ้นตามอายุการเก็บรักษา การนำเมล็ดแข็งของถั่วเขียวผิวมันและถั่วเขียวผิวดำแช่ในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 1 - 5 นาที หรืออบลมร้อนที่อุณหภูมิ 100 - 125 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 2 - 4 นาที สามารถเพิ่มเปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ด และลดปริมาณเมล็ดแข็งได้ ส่วนวิธีการเร่งอายุเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 72 เพื่อประเมินความสัมพันธ์กับเมล็ดที่เก็บรักษานาน 1 ปี คือ ใช้วิธีการนำไปอบที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 48 ชั่วโมง เมล็ดมีความงอกใกล้เคียงกับที่เก็บรักษาในสภาพอุณหภูมิห้องเป็นเวลา 1 ปี ด้านการเก็บรักษาเมล็ดถั่วเขียวเพื่อรักษาปริมาณสารไอโซฟลาโวนและโปรตีน ควรเก็บรักษาก่อนนำไปแปรรูปประมาณ 2 เดือน โดยการเก็บรักษาพันธุ์ชัยนาท 72 ที่ความชื้นเมล็ดเริ่มต้น 10 เปอร์เซ็นต์ และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส มีปริมาณไอโซฟลาโวนสูงสุด ขณะที่พันธุ์กำแพงแสน 2 ควรมีความชื้นเมล็ดเริ่มต้น 10 เปอร์เซ็นต์ และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส มีปริมาณเปอร์เซ็นต์โปรตีนมากที่สุด ขณะที่การเก็บรักษาแป้งฟลาวและสตาร์ชของถั่วเขียวที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส มีอัตราการลดลงของสารไอโซฟลาโวนที่น้อยกว่าการเก็บที่อุณหภูมิห้อง ด้านการใช้ประโยชน์จากผลพลอยได้จากการแปรรูปถั่วเขียว ได้แก่ กากถั่วเขียว และโปรตีน คาดว่าจะมีปริมาณน้อยลง เนื่องจากผลผลิตถั่วเขียวที่ลดลงและมีราคาแพงขึ้น

          ผลการทดลองด้านการอารักขาพืชพบว่า การปลูกถั่วเขียวในวันที่ 15 ธันวาคม 2554 ให้ผลผลิตสูงสุดและแสดงอาการเป็นโรคราแป้งต่ำสุด การพ่นสารเคมีเบโนมิล 50%WP อัตรา 15 20 และ 25 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เมื่อถั่วเขียวอายุ 14 วันและพ่นซ้ำ 2 ครั้ง ทุก 7 วัน สามารถควบคุมโรคราแป้งได้ดีที่สุด การคลุกเมล็ดด้วยสารฆ่าแมลง imidacloprid 70%WS อัตรา 5 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม imidacloprid 60%FS อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม และ thiamethoxam 35%FS อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ เพลี้ยจักจั่น และด้วงหมัดผัก และให้ผลผลิตสูงกว่าการไม่ใช้สารคลุกเมล็ด ส่วนการป้องกันกำจัดหนอนม้วนใบในถั่วเขียวพบว่า การพ่นสาร indoxacarb (Ammate 15%EC), methoxyfenozide (Prodigy 24%SC) และ lufenuron (Math 5%EC) อัตรา 10, 10 และ 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดแมลงได้ดี การปลูกถั่วเขียวในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม และเมษายน พบการระบาดของหนอนแมลงวันเจาะลำต้นในถั่วเขียวมากที่สุด แต่การปลูกในเดือนมกราคมให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงที่สุด ขณะที่เพลี้ยอ่อน เป็นแมลงศัตรูถั่วเขียวที่พบมากทุกฤดูปลูกในเขตภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง โดยพบมากที่สุดในปลายฤดูฝน รองลงมา คือ ฤดูแล้ง สารกำจัดวัชพืชประเภทใช้ก่อนวัชพืชงอก pendimethalin, oxyfluorfen, oxadiazon และ imazapic สามารถควบคุมวัชพืชได้ทั้งประเภทใบแคบและประเภทใบกว้างได้ดี ส่วนสารกำจัดวัชพืชประเภทใช้หลังวัชพืชงอก imazapic, imazathapyr, propaquisafop + fomesafen, fluazifop-P-butyl + fomesafen และ haloxyfop-p-methyl + fomesafen สามารถกำจัดวัชพืชได้ทั้งประเภทใบแคบและประเภทใบกว้างได้ดีที่สุดและให้ผลผลิตสูงไม่แตกต่างกัน ขณะที่การใช้สารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนงอก หรือ อะลาคลอร์ อัตรา 240 กรัม (ai)ต่อไร่ และสารอิมาเซทาเพอร์ 20 กรัม (ai) ต่อไร่ ในการปลูกถั่วเขียวหลังการทำนา ควรมีการกำจัดวัชพืชอีกครั้งเมื่อถั่วเขียวอายุ 25 - 30 วัน

          ผลการทดลองของกิจกรรมวิจัยเทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวผิวดำ ด้านอารักขาพืชพบว่า การคลุกดินก่อนปลูกด้วยเชื้อรา Trichoderma harzianum ในรูปส่วนผสมของเชื้อรา:ปุ๋ยหมัก : ดิน ในอัตราส่วน 1 : 4 : 10 สามารถลดการติดเชื้อในเมล็ดได้ และให้ผลผลิตสูงสุด

โครงการที่ 3 โครงการวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรสำหรับการเก็บเกี่ยวและแปรรูปถั่วเขียว 

          จากข้อมูลการสำรวจ แปลงผลิตถั่วเขียวในประเทศไทยมีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในเกือบทุกขั้นตอน ยกเว้นขั้นตอนการเก็บเกี่ยวที่ส่วนใหญ่ยังใช้คนเก็บฝัก และนวดโดยใช้เครื่องนวด ทำให้ยังต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในขั้นตอนการเก็บเกี่ยวสูงถึง 2,437 บาทต่อไร่ ประมาณเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด บางครั้งมีการสูญเสียจากการขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวในช่วงกลางและปลายฤดู ดังนั้นเพื่อลดปัญหาดังกล่าว จึงมีการพัฒนาดัดแปลงเครื่องเกี่ยวนวดข้าวมาใช้รับจ้างเก็บเกี่ยวถั่วเขียวในราคา 500 - 600 บาท ต่อไร่ ต่กำกว่าค่าจ้างแรงงานคนประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด จากข้อมูลดังกล่าวนำไปเป็นแนวทางในการดกำเนินการวิจัยและพัฒนาเครื่องเกี่ยวนวดข้าวขนาดเล็กเพื่อนำมาใช้เกี่ยวนวดถั่วเขียว โดยใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาด 120 แรงม้าเป็นต้นกกำลัง ความกว้างของหัวเกี่ยว 2.0 เมตร ลูกนวดเป็นแบบไหลตามแกนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 527 มิลลิเมตร ความยาวของลูกนวด 1,160 มิลลิเมตร ผลการทดสอบเบื้องต้นพบว่า เครื่องต้นแบบสามารถใช้งานได้ แต่เมล็ดมีการแตกหักสูง จึงได้ดกำเนินการปรับปรุงแก้ไขระบบนวดใหม่ โดยการถอดซี่ฟันลูกนวดออกประมาณร้อยละ 75 โดยมีระยะห่างระหว่างปลายฟันและตะแกรงรอบลูกนวด (Concave Clearance) 35 มิลลิเมตร จากนั้นนำไปทดสอบเกี่ยวนวดถั่วเขียวในสภาพการใช้งานจริง โดยใช้เก็บเกี่ยวถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 72 ที่ความชื้นเมล็ดถั่วเขียวร้อยละ 28.3 - 29.4 มาตรฐานเปียก ผลการทดสอบพบว่า สามารถทำงานได้ดี อัตราการทำงาน ระหว่าง 2.46 - 2.50 ไร่ต่อชั่วโมง มีความสิ้นเปลืองน้กำมันเชื้อเพลิง 4.0 - 4.13 ลิตรต่อไร่ และมีการสูญเสียโดยรวมร้อยละ 1.29 - 1.46

          ในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากถั่วเขียวได้ดำเนินการออกแบบและพัฒนาเครื่องมือแปรรูป เพื่อผลิตแป้งถั่วเขียวและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์วุ้นเส้น โดยทำการออกแบบพัฒนาเครื่องบดแป้งถั่วเขียวซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่จะเตรียมวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตเป็นวุ้นเส้นในขั้นตอนต่อไป โดยมีเป้าหมายให้ได้เครื่องบดที่มีขนาด ประสิทธิภาพ ราคาเหมาะสมกับเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย โดยนำเอาหลักการเครื่องบดแป้งทุเรียนมาพัฒนาต่อจนได้เครื่องบดแป้งถั่วเขียวต้นแบบ เป็นเครื่องบดแบบ Pin mill มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 240 มิลลิเมตร มีซี่ฟันบนจานบดหมุน (Rotor) 3 วงรอบ วางสลับลักษณะวงกลมกับซี่ฟันบดยึดอยู่กับที่ (Stator) 2 วงรอบ ลักษณะซี่ฟันบดเป็นแท่งสี่เหลี่ยม มีการทำงานในส่วนจานบด หมุนด้วยความเร็ว 2,900 รอบต่อนาที มอเตอร์ต้นกกำลัง 3 แรงม้า และจากการทดสอบบดแป้งถั่วเขียว ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท โดยใช้แป้งถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 72 พบว่ามีอัตราการบด 300 กิโลกรัมต่อชั่วโมง แป้งถั่วเขียวที่ได้จากการบดมีความละเอียดและสะอาด เมื่อนำไปทดสอบแปรรูปผลิตเป็นวุ้นเส้นได้วุ้นเส้นคุณภาพดีไม่แตกต่างจากการใช้วิธีบดแบบเดิมซึ่งใช้แรงงานคนในการบด แต่ยังมีปัญหาในเรื่องการฟุ้งกระจายของแป้งระหว่างบด ทำให้เกิดการสูญเสียแป้งส่วนหนึ่งไปในระหว่างการบด ซึ่งต้องปรับปรุงแก้ไข และได้ออกแบบพัฒนาเครื่องต้นแบบโรยเส้นวุ้นเส้น โดยพัฒนามาจากเครื่องโรยเส้นขนมจีน ตัวเครื่องโรยเส้นประกอบด้วยส่วนสำคัญ คือ เกียร์ปั้มในการสร้างแรงดันแป้งถั่วเขียวและเป็นตัวกกำหนดอัตราการไหลของเส้นวุ้นเส้น หัวโรยเส้นในการกำหนดขนาดของเส้น และได้ทำการทดสอบผลิตวุ้นเส้น พบว่ามีอัตราการไหลของวุ้นเส้นอยู่ที่ประมาณ 50 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ลักษณะของเส้นใกล้เคียงกับการใช้คนโรยแบบเดิม แต่ยังมีปัญหาเรื่องความต่อเนื่องของเส้น จึงควรมีการปรับปรุงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น


ไฟล์แนบ
.pdf   204_2558.pdf (ขนาด: 497.68 KB / ดาวน์โหลด: 6,305)
ตอบกลับ


ข้อความในเรื่องนี้
วิจัยและพัฒนาถั่วเขียว - โดย doa - 12-26-2016, 04:21 PM



ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม