11-28-2016, 01:59 PM
การปรับปรุงพันธุ์มะเกี๋ยงเพื่อการแปรรูปเป็นน้้าผลไม้พร้อมดื่ม
สุเมธ อ่องเภา, สากล มีสุข, บุญปิยธิดา คล่องแคล่ว, หทัยกาญจน์ สิทธิทา, กัลยา เกาะกากลาง, อดุลย์ ขัดสีใส, เดชา ยอดอุทา และสุเทพ กาวิลตา
สุเมธ อ่องเภา, สากล มีสุข, บุญปิยธิดา คล่องแคล่ว, หทัยกาญจน์ สิทธิทา, กัลยา เกาะกากลาง, อดุลย์ ขัดสีใส, เดชา ยอดอุทา และสุเทพ กาวิลตา
การปรับปรุงพันธุ์มะเกี๋ยงเพื่อการแปรรูปเป็นน้ำผลไม้พร้อมดื่ม มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพันธุ์มะเกี๋ยงที่มีผลผลิตสูงและคุณภาพดี แบ่งออกเป็น 2 สภาพพื้นที่ ประกอบด้วย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลำปาง (สูงจากระดับน้ำทะเล 312 เมตร) และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย (สูงจากระดับน้ำทะเล 1,300 เมตร) ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2555 – 30 กันยายน 2558 โดยในพื้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลำปาง มีต้นมะเกี๋ยงที่ปลูกไว้ทั้งหมด 700 สายต้น พบว่ามีความแตกต่างกันทางสัณฐานวิทยา โดยมีความสูงต้น 1.7 - 12.0 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางโคนต้น 4 – 121 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 1.2 - 10.1 เมตร ในปี 2554 ได้ดำเนินการเปรียบเทียบสายต้นที่รวบรวม จำนวน 45 สายต้น พบว่าสายต้น 022 และ 039 ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 41.5 และ 39.5 กิโลกรัมต่อต้น ตามลำดับ แตกต่างทางสถิติกับสายต้น 003 007 011 013 031 และ 045 ที่ให้ผลผลิตตั้งแต่ 4.00 – 8.25 กิโลกรัมต่อต้น เนื่องจากมะเกี๋ยงเป็นพืชผสมข้ามและขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด ทำให้มีความแตกต่างกันทางพันธุกรรม จึงดำเนินการคัดเลือกพันธุ์จำนวน 8 สายต้นจากมะเกี๋ยงที่ให้ผลผลิตจำนวน 359 ต้น ประกอบด้วย สายต้นลำปาง 116 ลำปาง 138 ลำปาง 242 ลำปาง 308 ลำปาง 312 ลำปาง 396 ลำปาง 397 และ ลำปาง 415 ให้ผลผลิตเฉลี่ยระหว่าง 135 - 223 กิโลกรัมต่อต้น มีขนาดการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ ประกอบด้วยเส้นรอบวงตั้งแต่ 70 - 152 เซนติเมตร ความสูงตั้งแต่ 7.25 - 12.33 เมตร ขนาดทรงพุ่ม 8.42 – 10.28 เมตร นอกจากนั้นยังมีคุณภาพของผลผลิตเหมาะสมในการแปรรูป โดยมีขนาดของผล (กว้าง x ยาว) เฉลี่ย 14.0 - 18.8 x 17.6 - 22.1 เซนติเมตร มีปริมาณเนื้อของมะเกี๋ยงสูงระหว่าง 70.1 – 84.6 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักของผลผลิต เพื่อคัดเลือกพันธุ์มะเกี๋ยงที่มีผลผลิตสูงและคุณภาพดีในแปลงรวบรวมพันธุ์สภาพที่มีการเขตกรรมที่เหมาะสม จึงได้วางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block Design (RCBD) เปรียบเทียบพันธุ์สายต้นมะเกี๋ยง จำนวน 8 สายต้น ประกอบด้วย 1. พันธุ์พื้นเมือง 2. ลำปาง 116 3. ลำปาง 242 4. ลำปาง 508 5. ลำปาง 312 6. ลำปาง 396 7. ลำปาง 397 8. ลำปาง 415 จำนวน 4 ซ้ำ หน่วยการทดลองละ 10 ต้น ระยะปลูก 4 x 5 เมตร พื้นที่ 6 ปลูกเมื่อ 12 กันยายน 2556 พบว่าสายต้นลำปาง 312 มีอัตราการเจริญเติบโตที่ 12 18 และ 24 เดือน มากที่สุด ขนาดเส้นรอบวงเฉลี่ย 2.7 3.0 และ 16.0 เซนติเมตร ตามลำดับ แตกต่างทางสถิติกับสายต้นพื้นเมืองที่มีอัตราการเจริญเติบโตที่ 12 18 และ 24 เดือน น้อยที่สุดเฉลี่ย 1.6 1.8 และ 9.7 เซนติเมตร ตามลำดับ จากการทดลองนี้ยังต้องมีการศึกษาข้อมูลด้านผลผลิตต่อไป ส่วนสายต้นมะเกี๋ยงที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพพื้นที่สูง จำนวน 5 สายต้น ได้แก่ RIT 1068/9 1068/10 1097/21 1097/26 และ 2150/1 ซึ่งทั้ง 5 สายต้น มีความแตกต่างกันในลักษณะของใบและผล โดยสายต้น RIT 1068/9 และ 1068/10 มีขนาดใบที่ใหญ่ รูปร่างยาวรี แต่ขนาดผลเล็กเนื่องจากติดผลจำนวนมาก ทำให้เปอร์เซ็นต์ผลดีเพียง 20.77 และ 20.78% ตามลำดับ สำหรับสายพันธุ์ RIT 1097/26 มีขนาดและน้ำหนักผลมากที่สุด ความหนาของเนื้อผลค่อนข้างหนา อีกทั้งยังมีเปอร์เซ็นต์ผลดีถึง 53.85% พัฒนาการของใบและผลของมะเกี๋ยงทั้ง 5 สายต้น มีความคล้ายคลึงกัน โดยเริ่มพลัดใบในเดือนกุมภาพันธ์และเริ่มผลิใบในเดือนเมษายน จากนั้นจะเริ่มแทงช่อดอกในเดือนกุมภาพันธ์ และดอกเริ่มบานในเดือนมิถุนายนและในเดือนนี้ก็เริ่มมีการติดผล จากนั้นผลจะเริ่มเปลี่ยนสีในเดือนตุลาคมและสามารถเก็บเกี่ยวได้ในเดือนพฤศจิกายน สำหรับคุณค่าทางด้านโภชนาการนั้นทั้ง 5 สายต้น ให้เบตาแคโรทีนที่ค่อนข้างสูง โดยสายพันธุ์ RIT 1068/9 ให้เบตาแคโรทีนสูงที่สุด นอกจากนี้ยังมีโพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม และวิตามินบี 2 ในปริมาณที่ค่อนข้างสูง โดยสายพันธุ์ RIT 1068/10 ให้ทั้งวิตามินบี 1 และ 2 ที่ค่อนข้างสูง