โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตมะปรางอย่างมีคุณภาพ
#1
โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตมะปรางอย่างมีคุณภาพ
ทวีป หลวงแก้ว, อนุรักษ์ สุขขารมย์, ปัญญา ธยามานนท์, สุดาวรรณ มีเจริญ, ณรงค์ แดงเปี่ยม, วสรรญ ผ่องสมบูรณ์, เสงี่ยม แจ่มจำรูญ, นรินทร์ พูลเพิ่ม, ทรงพล สมศรี, สมชาย บุญประดับ
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 และสำนักผู้เชี่ยวชาญ

          ศึกษาเปรียบเทียบพันธุ์มะปรางหวานเพื่อการค้า วางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 7 กรรมวิธี 4 ซ้ำ พันธุ์มะปรางหวานชนิดผลใหญ่ คือ พจ.01, พจ.02, พจ.09, พจ.041, พจ.044, พจ. 022 และพันธุ์หวานท่าอิฐเป็นพันธุ์เปรียบเทียบ (check) ระยะปลูก 6 x 6 เมตร ผลการทดลองพบว่า ด้านการเจริญเติบโตความสูงต้นมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับพันธุ์เปรียบเทียบ พันธุ์ที่มีความสูงต้นสูงที่สุด คือ พันธุ์ พจ.044 มีความสูง 139.10 เซนติเมตร พันธุ์ที่มีความสูงน้อยที่สุดคือพันธุ์พจ.02 มีความสูง 87.12 เซนติเมตร พันธุ์หวานท่าอิฐซึ่งเป็นพันธุ์เปรียบเทียบมีความสูงต้น 124.62 เซนติเมตร ด้านความกว้างเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่มพบว่า ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับพันธุ์เปรียบเทียบ ซึ่งมีความกว้างทรงพุ่มอยู่ระหว่าง 63.37 - 109.00 เซนติเมตร ด้านความยาวเส้นรอบวงของโคนต้นไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับพันธุ์เปรียบเทียบ ซึ่งมีความยาวเส้นรอบวงโคนต้นอยู่ในช่วง 6.83 - 10.16 เซนติเมตร ด้านผลผลิต ทุกพันธุ์ยังไม่ออกดอกติดผล การเปรียบเทียบพันธุ์มะยงชิดเพื่อการค้า วางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 7 กรรมวิธี 4 ซ้ำ พันธุ์มะยงชิดผลใหญ่ คือ พจ.0015, พจ.0023, พจ.0031, พจ.0038, พจ.0039, พจ.0043 และพันธุ์ชิดท่าอิฐเป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ระยะปลูก 6 x 6 เมตร ผลการทดลองพบว่า การเจริญเติบโตด้านความสูงต้นไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับพันธุ์เปรียบเทียบ พันธุ์ที่มีความสูงต้นสูงที่สุด คือ พันธุ์ พจ.0015 และพจ.0039 มีความสูง 141.37 และ 141.25 เซนติเมตร ตามลำดับ ต่ำที่สุดเป็นพันธุ์ พจ.0038 สูง 116.25 เซนติเมตร พันธุ์เปรียบเทียบ (ชิดท่าอิฐ) มีความสูง 129.37 เซนติเมตร ด้านเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่มพบว่า ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับพันธุ์เปรียบเทียบ พันธุ์ที่มีความกว้างมากที่สุด คือ พันธุ์ พจ.0015 กว้าง 137.50 เซนติเมตร น้อยที่สุด คือ พันธุ์ พจ.0043 มีเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่มที่ 106.25 เซนติเมตร พันธุ์เปรียบเทียบ (ชิดท่าอิฐ) กว้าง 126.25 เซนติเมตร ด้านความยาวเส้นรอบวงโคนต้นไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับพันธุ์เปรียบเทียบ พันธุ์ที่มีความยาวเส้นรอบวงโคนต้นมากที่สุด คือ พันธุ์ พจ.0015 และพจ.0039 คือ 15.62 และ 15.56 เซนติเมตร ตามลำดับ น้อยที่สุด คือ พจ.0043 และพจ.0038 คือ 12.41 และ 12.42 เซนติเมตร ตามลำดับ พันธุ์เปรียบเทียบ (ชิดท่าอิฐ) มีความยาวเส้นรอบวงโคนต้น 14.03 เซนติเมตร ด้านผลผลิตทุกพันธุ์ยังไม่ให้ผลผลิตการคัดเลือกพันธุ์มะปรางและมะยงชิดโดยการชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ด้วยการฉายรังสี ได้นำไปทำการฉายรังสี 2 ครั้ง ครั้งแรก เดือนกันยายน 2555 3 ระดับรังสี คือ 10.54 Krad, 14.81 Krad และ 19.64 Krad ทั้งมะปรางและมะยงชิดระดับรังสีละ 20 ต้น เป็นจำนวนมะปรางหวานพันธุ์สุวรรณบาตร 60 ต้น มะยงชิดท่าอิฐ 60 ต้น นำมาปลูกลงแปลงทดลอง 28 พฤศจิกายน 2555 ได้ 1 ปี ทุกระดับรังสีต้นพืชมะปรางทั้ง 2 สายพันธุ์ มีการเจริญเติบโตอย่างช้าๆ กิ่งยอดแห้งลงและตายไปในที่สุด จึงได้เตรียมพันธุ์ทั้ง 2 สายพันธุ์ใหม่ พันธุ์ 60 ต้น เพื่อนำไปฉายรังสีใหม่ ครั้งที่ 2 วันที่ 4 ธันวาคม 2556 โดยการใช้ระดับรังสี 3 ระดับ คือ 2.3 Krad, 3.6 Krad และ 4.1 Krad ลดระดับรังสีลงจากครั้งที่ 1 ปลูกลงแปลง 24 กรกฎาคม 2557 ถึง 2558 จำนวนจาก 20 ต้น ที่นำไปฉายรังสีมีเหลืออยู่เป็นพันธุ์สุวรรณบาตรระดับรังสี 2.3 Krad เหลือ 13 ต้น รังสี 3.6 Krad เหลือ 10 ต้น รังสี 4.1 Krad เหลือ 15 ต้น พันธุ์ชิดท่าอิฐ รังสี 2.3 Krad เหลือ 10 ต้น รังสี 3.6 Krad เหลือ 6 ต้น รังสี 4.1 Krad เหลือ 13 ต้น การเจริญเติบโตแตกใบอ่อนขนาดใบไม่ใหญ่เล็กเปรียบเทียบกับที่ไม่ฉายรังสี การศึกษาระยะปลูกและวิธีการตัดแต่งกิ่งที่เหมาะสมของมะปราง วางแผนการทดลองแบบ Split plot มี 3 ซ้ำ 8 กรรมวิธี ประกอบด้วย main plot ได้แก่ ระยะปลูก 2 ระยะ คือ ระยะปลูก 4 x 6 และระยะปลูก 6 x 6 เมตร sub plot ได้แก่ การตัดแต่งกิ่ง 4 วิธี คือ Central leader, Modified central leader, Open center และไม่ตัดแต่งกิ่ง ผลการทดลองระยะปลูกและการตัดแต่งกิ่งไม่มีผลต่อขนาดทรงพุ่ม การตัดแต่งมีผลต่อขนาดลำต้น แต่ทั้งระยะปลูกและการตัดแต่งกิ่งมีผลต่อความสูงของลำต้น ระยะปลูก 4 x 6 เมตร กับการตัดแต่งกิ่งแบบ Central leader, Modified central leader และ Open center มีความสูงต้นสูงที่สุด คือ 111.33,109.98 และ 103.05 เซนติเมตร ตามลำดับ แตกต่างกับการไม่ตัดแต่งกิ่งให้ความสูงน้อยสุด คือ 84.58 เซนติเมตร ระยะปลูก 6 x 6 เมตร กับการตัดแต่งกิ่งแบบ Central leader และ Modified central leader มีความสูงสูงสุด คือ 112.50 เซนติเมตร และ 103.19 เซนติเมตร แตกต่างกับไม่ตัดแต่งกิ่งระยะปลูก 4 x 6 และระยะปลูก 6 x 6 เมตรกับการตัดแต่งกิ่งแบบ Central leader และ Modified central leader มีความสูงสูงสุดคือ 111.92 เซนติเมตร และ 106.59 เซนติเมตร แตกต่างกันทางสถิติกับการตัดแต่งแบบ Open center และไม่ตัดแต่งกิ่ง มีความสูง 94.71 เซนติเมตร และ 86.67 เซนติเมตร การจัดการปุ๋ยที่เหมาะสมในการผลิตมะปรางให้มีคุณภาพในแปลงเกษตรกรที่อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร วิธีการทดลองประกอบด้วย 1) วิธีเกษตรกร 2) วิธีแนะนำ และ 3) การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ผลการวิเคราะห์ดินก่อนการทดสอบปุ๋ยพบว่า ดินมีค่า pH ปานกลาง (6.61) ปริมาณอินทรียวัตถุสูงมาก (2.84%) ปริมาณฟอสฟอรัสสูงมาก (124.15 mg/kg) โพแทสเซียมสูงมาก (384.00 mg/kg) ปริมาณไนโตรเจนปานกลาง (14.00 ppm) และมีลักษณะเนื้อดินแบบดินร่วนปนทรายแป้ง (silt loam) จากผลการทดลองพบว่า ต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีในวิธีแนะนำมีต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีเฉลี่ยที่ 4,184.40 บาทต่อไร่ วิธีเกษตรกรมีต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีเฉลี่ยที่ 5,579.20 บาทต่อไร่ และวิธีการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินมีต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีเฉลี่ยที่ 3,084.84 บาทต่อไร่ ทางด้านรายได้ผลตอบแทนพบว่า วิธีการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินให้ผลตอบแทนมีรายได้มากที่สุด 52,420.49 บาทต่อไร่ รองลงมาเป็นวิธีแนะนำที่ให้ผลตอบแทนมีรายได้ 51,415.86 บาทต่อไร่ และวิธีที่เกษตรกรที่ให้ผลตอบแทนมีรายได้ 49,862.84 บาทต่อไร่ การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากวิธีการใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำและวิธีเกษตรกร 1,040.63 และ 2,557.65 บาทต่อไร่ ตามลำดับ ได้ทำการศึกษาการจัดการน้ำในช่วงติดดอกออกผล เพื่อผลิตมะปรางให้มีคุณภาพ วางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block มี 4 ซ้ำ 5 กรรมวิธี ประกอบด้วย 1) ให้น้ำ 100% ของค่า Field capacity (FC) 2) ให้น้ำ 80% ของค่า Field capacity (FC) 3) ให้น้ำ 60% ของค่า Field capacity (FC) 4) ให้น้ำที่ 40% ของค่า Field capacity (FC) และ 5) การไม่ให้น้ำ จากการทดลองทางด้านการเจริญเติบโตพบว่า ความสูงและความกว้างของทรงพุ่ม ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ พบความกว้างของเส้นรอบวงโคนต้นมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การให้น้ำ 80% ของค่า Field capacity มีเส้นรอบวงโคนต้นกว้างที่สุด 78.00 เซนติเมตร ด้านผลผลิตพบว่า น้ำหนักต่อผล จำนวนผลต่อกิโลกรัม ผลผลิตต่อไร่ และค่าความหวาน ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ พบปริมาณกรดที่ไตเตรตได้มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การให้น้ำ 80% ของค่า Field capacity มีปริมาณกรดที่ไตเตรตได้สูงที่สุด 5.99 เปอร์เซ็นต์ การทดสอบประสิทธิภาพของสารเคมีและสารน้ำมันในการควบคุมเพลี้ยไฟในมะปราง มีการใช้สารน้ำมันและสารเคมีรวม 8 กรรมวิธี เปรียบเทียบกับการพ่นด้วยน้ำเปล่าหลังจากการพ่นสารทดลอง 3, 7 และ14 วัน ทำการประเมินประสิทธิภาพสารโดยการนับจำนวนประชากรเพลี้ยไฟภายใต้กล้องจุลทรรศน์พบว่า การพ่นสารเคมี ได้แก่ thiamethoxam, fipronil, imidaclopri, dinotefuran, acetamiprid, emamectin benzoate มีจำนวนเพลี้ยไฟลดลง 50 - 60 เปอร์เซ็นต์ ดีกว่าการใช้สารน้ำมัน ได้แก่ refined white oil และ petroleum spray oil มีเพลี้ยไฟลดลงเฉลี่ย 33 - 39 เปอร์เซ็นต์ และดีกว่าการพ่นด้วยน้ำเปล่าหลังพ่นสาร ทดลอง 7 วันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สารที่มีประสิทธิภาพมาก ในการควบคุมประชากรเพลี้ยไฟ หลังจากการพ่นสารทดลอง 14 วัน ได้แก่ acetamiprid, fipronil พบเพลี้ยไฟ 1.50 - 2.75 ตัว ตามลำดับ รองลงมา ได้แก่ thiamethoxam, imidacloprid, emamectin benzoate พบเพลี้ยไฟ 4.0 - 6.5 ตัว การใช้สารน้ำมัน ได้แก่ refined white oil และ petroleum spray oil สามารถควบคุมเพลี้ยไฟ ให้ลดลงได้หลังพ่นสารแล้ว 7 วัน พบเพลี้ยไฟ 3.0 และ 3.67 ตัว ตามลำดับ โดยหลังการพ่นน้ำ 7 และ 14 วัน พบเพลี้ยไฟเริ่มมีปริมาณเพิ่มขึ้น หลังพ่นน้ำ 7 วัน พบเพลี้ยไฟ 5.33 ตัว และหลังพ่นน้ำ 14 วัน พบเพลี้ยไฟ 8.0 ตัว สารเคมีลดประชากรเพลี้ยไฟในเวลารวดเร็วหลังพ่นสาร และสารน้ำมันสามารถควบคุมปริมาณประชากรเพลี้ยไฟได้ดีกว่าการพ่นด้วยน้ำเปล่า


ไฟล์แนบ
.pdf   133_2558.pdf (ขนาด: 1.41 MB / ดาวน์โหลด: 7,447)
ตอบกลับ


ข้อความในเรื่องนี้
โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตมะปรางอย่างมีคุณภาพ - โดย doa - 11-25-2016, 03:38 PM



ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 4 ผู้เยี่ยมชม