โครงการวิจัยการพัฒนาพันธุ์มันฝรั่งและเทคโนโลยีการผลิต
#1
โครงการวิจัยการพัฒนาพันธุ์มันฝรั่งและเทคโนโลยีการผลิต
สนอง จรินทร, อรทัย วงค์เมธา, อนุภพ เผือกผ่อง, มานพ หาญเทวี, วิวัฒน์ ภานุอำไพ, ชัยกฤต พรมมา, จารุฉัตร เขนยทิพย์, วราภรณ์ อุดมดี, สมคิด รัตนบุรี และกิตติชัย แซ่ย่าง
ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยพืชสวน

          การดำเนินโครงการวิจัยการพัฒนาพันธุ์มันฝรั่งและเทคโนโลยีการผลิต ประกอบไปด้วยการทดสอบความต้านทานโรคใบไหม้ (Phytophthora infestans) ของสายต้น Atlantic ที่คัดเลือกได้ การใช้วัสดุคลุมแปลงในการผลิตมันฝรั่ง และการทดสอบพันธุ์มันฝรั่งต้านทานโรคใบไหม้ในแปลงเกษตรกร ดังนี้

          การทดสอบความต้านทานโรคใบไหม้ (Phytophthora infestans) ของสายต้น Atlantic ที่คัดเลือกได้ ดำเนินการปี 2554 - 2556 ที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ (ฝาง) วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 4 ซ้ำ 5 กรรมวิธี ได้แก่ พันธุ์ต้านทานโรคใบไหม้จากสายต้นที่คัดเลือกได้ ได้แก่ A1, A3, A5, A9 และพันธุ์ Atlantic ดั้งเดิมที่ผลิตภายในประเทศ ซึ่งใช้เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ทำการบันทึกการเจริญเติบโตที่ 30 และ 60 วันหลังปลูก ผลผลิตและองค์ประกอบของผลผลิต และระดับการเกิดโรคใบไหม้ ในปี 2554 ที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) พบว่ามันฝรั่งมีความสูงเมื่ออายุ 60 วันเฉลี่ย อยู่ระหว่าง 46.60 – 58.86 เซนติเมตร เมื่อเปรียบเทียบจำนวนหัวต่อหลุม สายต้นมันฝรั่ง A9 มีจำนวนหัวเฉลี่ยสูงสุด 9.31 หัว ส่วนน้ำหนักต่อหลุม พันธุ์ Atlantic มีน้ำหนักหัวเฉลี่ยสูงสุด 601.94 กรัม เมื่อเปรียบเทียบผลผลิตต่อไร่ของพันธุ์ Atlantic มีผลผลิตเฉลี่ยสูงสุด 5,490 กรัม/ไร่ และทุกกรรมวิธีมีระดับการเกิดโรคใบไหม้อยู่ระหว่าง 5 - 6 (แปลงมองดูเขียวแต่ทุกต้นเป็นโรค ใบล่างแห้งตาย ใบถูกทำลาย 50 เปอร์เซ็นต์ และแปลงมองดูเขียวและมีจุดสีน้ำตาลต้นถูกทำลาย 75 เปอร์เซ็นต์ ใบล่างครึ่งหนึ่งถูกทำลาย) ส่วนที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่พบว่า สายต้นมันฝรั่ง A3 มีจำนวนหัวเฉลี่ยสูงสุด 6.55 หัว น้ำหนักต่อหลุมของสายต้นมันฝรั่ง A3 มีน้ำหนักหัวเฉลี่ยสูงสุด 228 กรัม เมื่อเปรียบเทียบผลผลิตต่อไร่ สายต้นมันฝรั่ง A3 มีผลผลิตเฉลี่ยสูงสุด 1,791.67 กรัม/ไร่ และทุกกรรมวิธีไม่แสดงอาการโรคใบไหม้  ในปี 2555 พบว่า เมื่อต้นมันฝรั่งมีอายุประมาณ 60 วัน เกิดลมและฝนตกติดต่อกันนานหลายวัน ทำให้ต้นมันฝรั่งหักเสียหายและเกิดเน่าเสียจนไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ ในปี 2556 พบว่า เมื่อต้นมันฝรั่งอายุ 60 วัน มีความสูงเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 67.15 - 75.13 เซนติเมตร เมื่อเปรียบเทียบจำนวนต้นต่อหลุม สายต้นมันฝรั่ง A9 มีจำนวนต้นเฉลี่ยสูงสุด 1.94 ต้น ส่วนมันฝรั่งของสายต้น A1 มีค่าเฉลี่ยหัวขนาดใหญ่ (Ø>45 มิลลิเมตร) สูงที่สุด 2.50 หัว สายต้นมันฝรั่ง A9 มีน้ำหนักต่อหลุมเฉลี่ยสูงสุด 328.30 กรัม เมื่อเปรียบเทียบผลผลิตต่อไร่ สายต้นมันฝรั่ง A9 มีผลผลิตเฉลี่ยสูงสุด 4,315 กิโลกรัม/ไร่ และทุกกรรมวิธีมีเปอร์เซ็นต์การรอด 68 – 69 % เปอร์เซ็นต์การเกิดโรคไวรัส เมื่ออายุ 60 วัน ของสายต้นมันฝรั่ง A5 และ A9 มีค่าเฉลี่ยการเกิดโรคต่ำสุด เท่ากับ 2.09% ส่วนระดับการเกิดโรคใบไหม้ เมื่ออายุ 65 วัน สายต้น A3 มีระดับการเกิดโรคใบไหม้เฉลี่ยต่ำสุด 3.75 ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันกับสายต้นมันฝรั่ง A9 (พืชดูสมบูรณ์แต่เมื่อเข้าใกล้จะเห็นแผลพื้นที่ใบที่เป็นแผลไม่เกิน 20 ใบย่อย และโรคใบไหม้เห็นโดยง่ายทั่วไป ใบเป็นแผลประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์)

          การศึกษาการใช้วัสดุคลุมแปลงในการผลิตมันฝรั่ง ดำเนินการในพื้นที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ในปี 2555 - 2556 วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 5 กรรมวิธี 4 ซ้ำ ได้แก่ ปลูกโดยไม่มีการคลุมแปลง คลุมแปลงด้วยพลาสติก คลุมแปลงด้วยหญ้าคา คลุมแปลงด้วยฟางข้าว และคลุมแปลงด้วยเปลือกกับซังข้าวโพด แปลงที่ไม่มีการคลุมวัสดุจะพ่นยาคลุมวัชพืช ส่วนกรรมวิธีที่มีการคลุมแปลงจะไม่พ่นยาคลุมวัชพืช โดยคลุมแปลงให้หนา 30 เซนติเมตร และทำการบันทึกการเจริญเติบโต ที่ 30 และ 60 วันหลังปลูก ปริมาณผลผลิต คุณภาพผลผลิต และสำรวจสุขภาพของพืช จากการทดลองพบว่าต้นมันฝรั่งคลุมแปลงด้วยเปลือกและซังข้าวโพด ฟางข้าว และหญ้าคา จะมีการเจริญเติบโตดีที่สุด ผลผลิตของต้นมันฝรั่งที่ปลูกโดยการคลุมแปลงด้วยฟางข้าว มีจำนวนหัวต่อหลุมเฉลี่ยสูงที่สุด 8.5 หัว/หลุม รองลงมา คือ มันฝรั่งที่ปลูกโดยคลุมด้วยหญ้าคาและมันฝรั่งที่ปลูกโดยคลุมด้วยเปลือกและซังข้าวโพด มีจำนวนหัวต่อหลุมเฉลี่ย 7.8 และ 7.3 หัว/หลุม ตามลำดับ น้ำหนักหัวต่อหลุมมันฝรั่งที่ปลูกด้วยการคลุมด้วยหญ้าคาจะมีน้ำหนักหัวต่อหลุมเฉลี่ยมากที่สุด 267.7 กรัม/หัว รองลงมา คือ มันฝรั่งที่ปลูกโดยคลุมด้วยเปลือกและซังข้าวโพดและมันฝรั่งที่ปลูกโดยคลุมด้วยหญ้าคา มีน้ำหนักหัวต่อหลุมเฉลี่ย 244.2 และ 226.9 กรัม/หัว ตามลำดับ และมันฝรั่งที่ปลูกด้วยการคลุมด้วยหญ้าคาจะให้ผลผลิตต่อพื้นที่ปลูก 12 ตารางเมตร เฉลี่ยมากที่สุด 5.54 กิโลกรัม รองลงมา คือ มันฝรั่งที่ปลูกด้วยการคลุมด้วยฟางข้าว และมันฝรั่งที่ปลูกด้วยเปลือกกับซังข้าวโพด ให้ผลผลิตต่อพื้นที่ปลูก 12 ตารางเมตร เฉลี่ย 5.49 และ 5.40 กิโลกรัม ตามลำดับ ขนาดหัวของมันฝรั่งที่ปลูกโดยคลุมด้วยฟางข้าวจะมีจำนวนหัวต่อพื้นที่ 12 ตารางเมตร เฉลี่ยมากที่สุด 186 หัว และมีขนาดหัวใหญ่กว่า 45 กรัมเฉลี่ยสูงที่สุด 21 หัว ส่วนการคลุมแปลงด้วยหญ้าคา จะมีขนาดหัวน้อยกว่า 45 กรัมเฉลี่ยสูงที่สุด 170 หัว นอกจากนี้การคลุมแปลงด้วยฟางข้าว จะลดการเกิดโรคใบไหม้ เปอร์เซ็นต์การเกิดหัวเขียวต่ำที่สุด ลดอัตราการเกิดวัชพืช และลดอุณหภูมิในดินลงดีที่สุด รองลงมาคือการคลุมแปลงด้วยเปลือกกับซังข้าวโพด และหญ้าคา เมื่อเปรียบเทียบกับการคลุมแปลงด้วยพลาสติก และไม่มีการคลุมแปลง ดังนั้นการคลุมแปลงด้วยวัสดุที่เหมาะสม ซึ่งเป็นวัสดุที่เหลือใช้ และหาได้ง่ายในท้องถิ่น ได้แก่ ฟางข้าว และ เปลือกและซังข้าวโพด จะเป็นวิธีที่เหมาะสมกับการปลูกมันฝรั่งแบบแถวคู่ ควรคลุมแปลงให้หนา 30 เซนติเมตร ซึ่งจะทำให้ต้นมันฝรั่งมีการเจริญเติบโตที่ดี ผลผลิตมันฝรั่งเพิ่มขึ้น ช่วยลดปริมาณการเกิดวัชพืช ลดการเกิดหัวเขียว รักษาความชื้นในดิน โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งและเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตมันฝรั่งของเกษตรกรได้

          การทดสอบพันธุ์มันฝรั่งต้านทานโรคใบไหม้ในแปลงเกษตรกร จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน และจ.ตาก ปี 2557 - 2559 โดยศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก วางแผนการทดลองแบบ Simple randomized trial ดำเนินการทดสอบในแปลงเกษตรกร ประกอบด้วย 3 กรรมวิธี คือ มันฝรั่งพันธุ์ต้านทานโรคใบไหม้ที่ได้จากกรมวิชาการเกษตร สายพันธุ์ A3, สายพันธุ์ A9 และมันฝรั่งพันธุ์ Atlantic ของเกษตรกรที่ผลิตในประเทศซึ่งใช้เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ และทำการประเมินผลผลิตและความต้านทานโรคใบไหม้ จากการทดสอบพบว่า มันฝรั่งต้านทานโรคใบไหม้ที่ปลูกในฤดูฝน สายต้น A3 ให้จำนวนหัวต่อหลุมเฉลี่ยสูงที่สุด 4.4 หัว น้ำหนักหัวต่อหลุมเฉลี่ยสูงที่สุด 857.2 กรัม ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยสูงที่สุด 3,429 กิโลกรัม และเปอร์เซ็นต์แป้งเฉลี่ยเท่ากับ 19.43% มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับสายต้น A9 และมันฝรั่งพันธุ์ Atlantic ของเกษตรกร ไม่พบเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคใบไหม้ในมันฝรั่งทั้งสามสายพันธุ์ ส่วนการทดสอบมันฝรั่งในฤดูหนาวที่ อ.ฝาง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน และอ.พบพระ จ.ตาก พบว่าสายต้น A9 ให้จำนวนหัวต่อหลุมเฉลี่ยสูงที่สุด 11.5 หัว น้ำหนักหัวต่อหลุมเฉลี่ยสูงที่สุด 809.3 กรัม ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยสูงที่สุด 3,608 กิโลกรัม และเปอร์เซ็นต์แป้งเฉลี่ยเท่ากับ 18.55 % ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับสายต้น A3 ที่มีจำนวนหัวต่อหลุมเฉลี่ย 9.7 หัว น้ำหนักหัวต่อหลุมเฉลี่ย 775 กรัม ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 3,162.3 กิโลกรัม และเปอร์เซ็นต์แป้งเฉลี่ย 17.93 % และสายพันธุ์ Atlantic ไม่พบเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคใบไหม้ในมันฝรั่งทั้งสามสายพันธุ์ ดังนั้นมันฝรั่งสายต้น A3 เหมาะสมต่อการผลิตมันฝรั่งในฤดูฝน และสายต้น A9 เหมาะสมต่อการผลิตมันฝรั่งในฤดูหนาว ซึ่งจะให้จำนวนหัวมาก ผลผลิตสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี สามารถส่งเสริมเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร เพื่อเผยแพร่ให้เกษตรกรปลูกต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   111_2558.pdf (ขนาด: 3.27 MB / ดาวน์โหลด: 4,703)
ตอบกลับ


ข้อความในเรื่องนี้
โครงการวิจัยการพัฒนาพันธุ์มันฝรั่งและเทคโนโลยีการผลิต - โดย doa - 11-24-2016, 11:32 AM



ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม