11-17-2016, 03:41 PM
การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการเพิ่มมูลค่าผลผลิตงา
กัลยารัตน์ หมื่นวณิชกูล, ธำรง เชื้อกิตติศักดิ์, นฤทัย วรสถิตย์, สมใจ โควสุรัตน์, กัลยารัตน์ หมื่นวณิชกูล, ศิริรัตน์ กริชจนรัช, จุไรรัตน์ กันภัย, อรอนงค์ วรรณวงษ์, ลักขณา ร่มเย็น, อานนท์ มลิพันธ์, สายสุนีย์ รังสิปิยกุล, สาคร รจนัย, จิราลักษณ์ ภูมิไธสงค์, บุญเหลือ ศรีมุงคุณ, รวีวรรณ เชื้อกิตติศักดิ์, เบญจมาศ ค าสืบ, ประภาศรี จงประดิษฐ์นันท์, นัฐภัทร์ คำหล้า, สุทธิดา บูชารัมย์, สุปรียา ศุขเกษม, ศุจิรัตน์ สงวนรังศิริกุล, โสพิศ ใจปาละ, นภาพร คำนวณทิพย์, ศุภมาศ กลิ่นขจร, สรัตนา เสนาะ, ศิริวรรณ อำพันฉาย, ปรีชา แสงโสดา และเพ็ญรัตน์ เทียมเพ็ง
สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน, สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร, ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี, ศูนย์วิจัยพืชไร่เพชรบูรณ์, ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น, ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท, ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลพบุรี, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุรินทร์, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูง และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรบุรีรัมย์
โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการเพิ่มมูลค่าผลผลิตงา ดำเนินการระหว่างปี 2554 - 2558 ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ การวิจัยและพัฒนาพันธุ์งา การพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการผลิตงาในพื้นที่ที่มีศักยภาพ และการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตงา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและพัฒนาพันธุ์งาให้ได้สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง มีขนาดเมล็ดโต และมีคุณค่าทางอาหารสูง สายพันธุ์ทนแล้งที่ให้ผลผลิตสูง และสายพันธุ์ต้านทานโรคไหม้ดำ เน่าดำ หรือราแป้ง และพันธุ์งาที่มีความเหมาะสมเฉพาะเพื่อปลูกในเขตชลประทาน หรือเหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยว พัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการปลูกงาในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ในสภาพนาเขตชลประทานและสภาพนาที่สามารถให้น้ำเสริมได้ พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารเสริมสุขภาพจากงา ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น ผลการดำเนินการ กิจกรรมที่ 1 พบว่า งาขาวสายพันธุ์ PI280793 งาดำสายพันธุ์ BS54-54 และงาแดงสายพันธุ์ RSMUB54-12 ให้ผลผลิตในฤดูปลายฝนสูงใกล้เคียงหรือมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คือ 130 กก./ไร่ (169 124 และ 187 กก./ไร่ ตามลำดับ) ส่วนในต้นฤดูฝนพบว่า มีเพียงงาแดงสายพันธุ์ RSMUB54-12 ที่ให้ผลผลิตสูงกว่า 130 กก./ไร่ (187 กก./ไร่) การประเมินพันธุ์สำหรับเขตชลประทานจังหวัดอุบลราชธานี งาขาวสายพันธุ์ MKS-I-84001 ให้ผลผลิตสูงสุด 52 กก./ไร่ สายพันธุ์ MR36 A30-15 และอุบลราชธานี 1 ค่อนข้างทนทานต่อโรคเน่าดำ ที่เกิดจากเชื้อรา M. phaseolina สายพันธุ์ GMUB4 CM07 และ C plus 2 ค่อนข้างทนทานต่อโรคไหม้ดำ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย R. solonacearum และสายพันธุ์ GMUB1 ค่อนข้างต้านทานต่อโรคราแป้งที่เกิดจากเชื้อ Oidium sp. สำหรับงาทนแล้งไม่มีสายพันธุ์ใดที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์อุบลราชธานี 1 การปรับปรุงพันธุ์งาเพื่อฝักไม่แตกง่ายและพันธุ์งาที่ให้ผลผลิตสูงชุดใหม่ ยังอยู่ในขั้นตอนการคัดเลือกพันธุ์เพื่อเข้าประเมิน ผลผลิต รวมทั้งการรวบรวม ศึกษา และจำแนกลักษณะพันธุ์งา เพื่อจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระบบ และสามารถนำไปใช้เป็นแหล่งพันธุกรรมเพื่อปรับปรุงพันธุ์ต่อไป กิจกรรมที่ 2 พบว่า งาในสภาพนาให้ผลผลิตดี เมื่อใช้ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ อัตรา 150 กก./ไร่ การใช้ปุ๋ยพืชสด และการใช้ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ อัตรา 150 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ย 8-8-4 กก./ไร่ ของ N-P2O5-K2O โดยมีวิธีการปลูก คือ การไถกลบตอซังข้าว 1 ครั้ง ไถพรวน 1 - 2 ครั้ง โรยเป็นแถว และวิธีการตัดตอซังข้าว 1 ครั้ง ไถพรวน 2 ครั้ง ปลูกแบบหว่าน และควรปลูกช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ - ต้นเดือนมีนาคม งาให้ผลผลิตสูงที่สุด กำจัดวัชพืชด้วยแรงงานคน 2 ครั้ง เมื่องาอายุ 3 และ 6 สัปดาห์หลังปลูก การปลูกงาในสภาพนาโดยเครื่องปลูกแบบพ่วงท้ายแทรกเตอร์ และการใช้เครื่องเป่าทำความสะอาดเมล็ดงา โดยใช้เครื่องจักรขนาดเล็กช่วยประหยัดแรงงานและเวลา การปลูกงาในสภาพนาอินทรีย์การปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยพืชสดแล้วปลูกงา ให้ผลผลิตสูงกว่าการไม่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยพืชสด โดยการใช้ถั่วพุ่ม อัตรา 10 กก./ไร่ หรือปอเทือง อัตรา 5 กก./ไร่ ไถกลบเมื่ออายุ 45 วัน งาให้ผลผลิตไม่แตกต่างกัน ส่วนการใช้ปุ๋ยหมัก (โบกาฉิ) อัตรา 150 - 600 กก./ไร่ งาให้ผลผลิตไม่แตกต่างกัน การปลูกงาด้วยวิธีหว่านและโรยเป็นแถว และใช้อัตราเมล็ดพันธุ์งาตั้งแต่ 0.5 - 1.5 กก./ไร่ ผลผลิตงาไม่แตกต่างกัน การปลูกงาในสภาพไร่การปลูกโดยใช้เครื่องมีความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดแรงงาน และให้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกแบบหว่าน ส่วนการปลูกในสภาพนา ผลผลิตไม่แตกต่างกัน การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตงาที่เหมาะสมกับพื้นที่วิธีการตามคำแนะนำให้ผลผลิตที่ดีกว่าวิธีปฏิบัติเดิมของเกษตรกร ทั้งการใช้พันธุ์ วิธีการปลูก การแก้ปัญหาโรคเน่าดำ ไหม้ดำ และหนอนห่อใบงา กิจกรรมที่ 3 ได้สูตรการทำเนยงา คือ งาคั่ว : ถั่วลิสง อัตราส่วน 1 : 1 วิธีผลิตงางอกที่ให้ได้ผลผลิตงางอกดี มีคุณภาพ คือ การเพาะเมล็ดด้วยทรายหรือแกลบเผาได้ปริมาณงางอกสูง 17 - 20 เท่าของเมล็ดที่ใช้เพาะ และงางอกมีลักษณะยาวเหมาะที่จะใช้ในรูปผักสด การเพาะงางอกในอุณหภูมิห้องทั่วไป และมีการพรางแสง 80% ให้ผลผลิตน้ำหนักสดของงางอกสูง การเพาะในห้อง ควบคุมอุณหภูมิ ภายใต้สภาวะทึบแสง งางอกจะมีมีปริมาณสารกาบามากที่สุด 142.36 มก./งางอก 100 กรัม