08-04-2016, 03:44 PM
การคัดเลือกพันธุ์ถั่วเขียวให้ต้านทานโรคไวรัสใบด่างเหลืองในเรือนทดลอง
กาญจนา วาระวิชะนี, วันเพ็ญ ศรีทองชัย, สุมนา งามผ่องใส และเชาวนาถ พฤทธิเทพ
กลุ่มงานไวรัสวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท สถาบันวิจัยพืชไร่
กาญจนา วาระวิชะนี, วันเพ็ญ ศรีทองชัย, สุมนา งามผ่องใส และเชาวนาถ พฤทธิเทพ
กลุ่มงานไวรัสวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท สถาบันวิจัยพืชไร่
โรคไวรัสใบด่างเหลืองถั่วเขียว (Mumg Bean Yellow Mosaic, MYMV) สร้างความเสียหายให้กับพืชตระกูลถั่วได้ทุกระยะการเจริญเติบโตโดยเฉพาะถั่วเขียวผิวมัน เมื่อโรคเข้าทำลายในระยะต้นกล้าจะไม่สามารถเก็บผลผลิตได้เลย ดังนั้น นักปรับปรุงพันธุ์จึงพยายามปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียวที่ต้านทานโรค ทั้งนี้ต้องมีวิธีการคัดเลือกพันธุ์ที่ดีและมีประสิทธิภาพควบคู่กันไปด้วย จากการทดลองได้ทำการคัดเลือกถั่วเขียวรวม 11 สายพันธุ์ของศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท ได้แก่ KPS2, NM94-10, VC02-3-5, VC-07-1-1, CN72, NM54, NM92, SUT1 (มทส.1), Ramzan, ชน.80 และ 6601 โดยนำถั่วเขียวทุกสายพันธุ์มาปลูกเชื้อไวรัส MYMV ด้วยแมลงหวี่ขาว และสังเกตอาการรวม 45 วัน หลังจากนั้นประเมินความรุนแรงของโรคจากการสังเกตด้วยตาเปล่าและอ้างอิงตามเกณฑ์ Disease Scoring Scale (1-9) for MYMV (Sadiq et al., 2006) พบถั่วเขียว 4 สายพันธุ์ ได้แก่ KPS2, CN72, SUT1 (มทส.1), และชน.80 มีการเข้าทำลายของโรคเท่ากับ 100 % คะแนนความรุนแรงของโรคอยู่ที่ระดับ 9 หมายถึง พืชแสดงความอ่อนแอต่อโรคมาก ผลจากการสังเกตโรคด้วยตาเปล่าพบถั่วเขียว 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 6601, NM94-10, VC-07-1-1 มีแนวโน้มนำมาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ได้โดยคะแนนความรุนแรงของโรคอยู่ที่ระดับ 4, 5, 6 ตามลำดับ และถั่วเขียวสายพันธุ์ NM94-10 VC02-3-5, VC-07-1-1, NM54 , NM92, Ramzan และ 6601 พบบางต้นไม่แสดงอาการโรคใบด่างเหลืองให้เห็นเมื่อสังเกตโรคด้วยตาเปล่าจึงนำมาตรวจหาเชื้อไวรัส MYMV ด้วยเทคนิค PCR โดยใช้ specific primer พบถั่วเขียว 5 สายพันธุ์ไม่แสดงแถบดีเอ็นเอของเชื้อไวรัส MYMV ที่ขนาดประมาณ 1000 นิวคลีโอไทด์ ได้แก่ ถั่วเขียวสายพันธุ์ 6601 จำนวน 4 ต้น, VC02-3-5 และ VC-07-1-1 สายพันธุ์ละ 3 ต้น และ NM94-10 และ Ramzan สายพันธุ์ละ 2 ต้นจึงทำการเก็บเมล็ดพันธุ์จากต้นดังกล่าวให้ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาทนำไปปรับพันธุ์ต่อไป