08-02-2016, 04:46 PM
วิจัยและพัฒนาเครื่องขุดมันสำปะหลังแบบไถหัวหมู
อนุชิต ฉ่ำสิงห์, อัคคพล เสนาณรงค์, สุภาษิต เสงี่ยมพงศ์, พักตร์วิภา สุทธิวารี, ยุทธนา เครือหาญชาญพงค์, ขนิษฐ์ หว่านณรงค์ ประสาท แสงพันธุ์ตา
กลุ่มวิจัยวิศวกรรมผลิตพืช สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม
อนุชิต ฉ่ำสิงห์, อัคคพล เสนาณรงค์, สุภาษิต เสงี่ยมพงศ์, พักตร์วิภา สุทธิวารี, ยุทธนา เครือหาญชาญพงค์, ขนิษฐ์ หว่านณรงค์ ประสาท แสงพันธุ์ตา
กลุ่มวิจัยวิศวกรรมผลิตพืช สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม
ศึกษาสถานการณ์การเก็บเกี่ยว การใช้เครื่องขุดมันสำ ปะหลัง และพัฒนาเครื่องขุดมันสำปะหลังแบบไถหัวหมู วิจัยและพัฒนาเครื่องขุดมันสำปะหลังเพื่อปรับใช้ในการไถกลบฟางและตอซังข้าว พ่วงรถแทรกเตอร์ขนาด 50 แรงม้า ซึ่งมีข้อจำกัดไม่สามารถทำการขุดมันสำปะหลังได้อย่างต่อเนื่อง ผลการสำรวจพบว่ามีการเก็บเกี่ยว 2 รูปแบบหลัก คือ เก็บเกี่ยวโดยการใช้แรงงานคนทั้งหมดและการใช้เครื่องขุดมันสำปะหลังพ่วงรถแทรกเตอร์ร่วมกับการใช้แรงงานคน โดยรูปแบบหลังช่วยลดต้นทุน และการใช้แรงงานคนลง 37 และ 8 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ พบปัญหาคอขวดที่สำคัญในระบบการเก็บเกี่ยว คือ ขั้นตอนหลังจากการถอนหรือขุดขึ้นมาจากดิน ซึ่งใช้แรงงานคนทั้งหมดและประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และพบว่าเครื่องขุดมันสำปะหลังที่มีใช้งานในปัจจุบันได้รับการยอมรับ นำไปใช้งานโดยเกษตรกรทั่วไประดับหนึ่ง มีหลายแบบแตกต่างกันตามขนาดรถแทรกเตอร์ต้นกำลัง ชนิดของผาลขุดปีกไถ ลักษณะการพลิกดิน โดยพบว่ายังมีความจำเป็นต้องพัฒนาเพื่อลดแรงลากจูง อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง ลดการสึกหรอของรถแทรกเตอร์ ความสูญเสียและความเสียหายของหัวมันสำปะหลังจากการขุด ผลการวิจัยและพัฒนาได้เครื่องขุดมันสำปะหลังแบบไถหัวหมู ซึ่งมีผาลขุดแบบจานโค้ง สามารถปรับมุมและความยาวปีกไถตามชนิดและความชื้นดิน ซึ่งแก้ปัญหาข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ได้มากขึ้น ปรับเลื่อนตามระยะระหว่างแถวได้สะดวก ต้องการแรงลากจูงต่ำ มีความสามารถในการทำงาน 1.4 ไร่ต่อชั่วโมง อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง 2.9 - 3.4 ลิตรต่อชั่วโมง มีความสูญเสียหัวมันสำปะหลัง 2.3-5.0 เปอร์เซ็นต์ และความเสียหาย 40 เปอร์เซ็นต (ความเสียหายเนื่องจากการแตกหัก และหัวหลุดออกจากต้น) ซึ่งน้อยกว่าผลการทดสอบเครื่องขุดที่มีใช้งานอยู่แล้วพบว่า สามารถใช้เครื่องขุดมันสำปะหลังเพื่อการไถกลบฟางและตอซังข้าวในแปลงที่ทำการเก็บเกี่ยวข้าวด้วยเครื่องเกี่ยวนวดข้าวที่มีแถบฟางหนา ซึ่งเป็นอุปสรรคในการไถเตรียมดินได้ดีกว่าการใช้ด้วยไถผาลเจ็ด โดยเปลี่ยนเฉพาะส่วนของปีกไถและติดตั้งในตำแหน่งที่ถูกต้อง แต่มีข้อจำกัดเรื่องมีหน้ากว้างในการทำงานต่ำกว่าประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์ โดยมีความสามารถในการทำงาน 0.81 ไร่ต่อชั่วโมง ประสิทธิภาพการทำงาน 59 เปอร์เซ็นต์ สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง 3.3 ลิตรต่อไร่ และเปอร์เซ็นต์การไถกลบฟางและตอซังข้าว 85 เปอร์เซ็นต์