08-02-2016, 02:13 PM
การตรวจหา PVY strains และการประเมินความเสียหายของผลผลิตมันฝรั่งจากเชื้อ PVY ในประเทศไทย
สุรภี กีรติยะอังกูร, สิทธิศักดิ์ แสไพศาล, วิวัฒน์ ภาณุอำไพ, เยาวภา ตันติวานิช และปรียพรรณ พงศาพิชณ์
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
สุรภี กีรติยะอังกูร, สิทธิศักดิ์ แสไพศาล, วิวัฒน์ ภาณุอำไพ, เยาวภา ตันติวานิช และปรียพรรณ พงศาพิชณ์
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
ประเทศไทยยังขาดข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเรื่อง strain และความเสียหายของผลผลิตมันฝรั่งที่เกิดจากเชื้อ Potato virus Y (PVY) จึงได้ดำเนินการวิจัยโครงการนี้ขึ้นโดยแบ่งออกเป็น 2 การทดลอง การทดลองแรกเป็นการตรวจหา strain ของเชื้อ PVY ในประเทศไทย โดยออกสำรวจและสุ่มเก็บตัวอย่างโรคใบด่างของมันฝรั่ง จากแปลงเกษตรกรในทุกแหล่งปลูกของประเทศ เช่น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ทั้งฤดูฝนและฤดูหนาวเป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 - 2550 โดยเก็บตัวอย่างที่มีอาการด่างจากแปลงปลูกในลักษณะการเดินเก็บแบบรูปตัว M มาจำนวน 50 ตัวอย่าง ต่อแปลงที่มีขนาดประมาณ 10-15 ไร่ นำมาตรวจจำแนกครั้งที่ 1 ด้วยวิธี Nitrocellulose Membrane-Enzyme Link Immunosorbent Assay (NCM-ELISA) กับแอนติซีรัมของเชื้อ Potato virus S (PVS), Potato virus X (PVX), PVY และ Potato leafroll virus (PLRV) ที่เป็นชนิด polyclonal antiserum ด้วยวิธี NCM-ELISA พบว่า ตัวอย่างที่เป็นโรคใบด่าง 90 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากเชื้อ PVY จึงนำมาตรวจจำแนกครั้งที่ 2 โดยแยกเป็น strain ใช้แอนติซีรัมที่เป็น monoclonal ของ strain PVYo และ PVYn ตรวจสอบด้วยวิธี NCM-ELISA และวิธี Reverse Transcriptase-Polymerase Chain Reaction (RT-PCR) กับชุด primers ของ PVYntn พบว่า หัวพันธุ์ที่นำเข้ามาจากสก็อตแลนด์ติดเชื้อ PVY ที่เป็น strain PVYn และ PVYo ส่วนหัวพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลียตรวจพบแต่ PVYo ชนิดเดียว จึงสรุปได้ว่ามีเพียง PVYo และ PVYn เพียง 2 strains ที่ติดเข้ามากับหัวพันธุ์ ส่วน strain อื่นๆ ตรวจไม่พบรวมทั้ง PVS, PVX และ PLRV การทดลองที่สอง เป็นการประเมินความเสียหายของผลผลิตมันฝรั่ง ที่เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อ PVY จากการทดลองปลูกและเก็บข้อมูล 3 ฤดู ที่ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงใหม่ (ฝาง) และแปลงของเกษตรกรที่อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ได้วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 7 ซ้ำ 3 กรรมวิธี คือกรรมวิธีที่ 1 ใช้หัวพันธุ์ ปลอดโรค 100 เปอร์เซ็นต์ (T1) กรรมวิธีที่ 2 ใช้หัวพันธุ์เป็นโรค 100 เปอร์เซ็นต์ (T2) และกรรมวิธีที่ 3 ใช้หัวพันธุ์เป็นโรค 4 เปอร์เซ็นต์ (T3) โดยปลูกเป็น 2 ลักษณะคือ ปลูกในโรงกางมุ้ง และปลูกนอกมุ้งตามปกติ การเตรียมหัวพันธุ์เหมือนกันเป็น 2 ชุดสุ่มตรวจการเกิดโรค 3 ครั้งๆ แรกเมื่อหัวเริ่มงอก ครั้งที่ 2 ระยะก่อนออกดอก และครั้งที่ 3 ก่อนเก็บผลผลิต 2 สัปดาห์ ผลการตรวจแปลงนอกมุ้งซึ่งควบคุมสภาพแวดล้อมได้ยาก พบว่า กรรมวิธีที่ 1 และ 3 ติดโรคใบด่างจากเชื้อ PVY ในอัตราสูงถึง 80 - 90 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ระยะก่อนออกดอก และเมื่อสุ่มตรวจโรคก่อนเก็บผลผลิต 2 สัปดาห์ พบว่า ทุกกรรมวิธีเป็นโรค 100 เปอร์เซ็นต์ และให้น้ำหนักผลผลิตรวมไม่แตกต่างกัน แต่มีความแตกต่างกันทางคุณภาพของขนาดหัวมันฝรั่ง โดยกรรมวิธีที่ 2 ที่ใช้หัวพันธุ์เป็นโรค 100 เปอร์เซ็นต์ (T2) มีปริมาณหัวมันขนาดเล็กกว่า 45 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นขนาดหัวมันตกเกรดส่งโรงงานไม่ได้มากกว่าหัวพันธุ์ปลอดโรค (T1) และ หัวพันธุ์ติดโรค 4 เปอร์เซ็นต์ (T3) ทำให้ความสูญเสียของผลผลิตมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และพบว่าในโรงกางมุ้งมีอุณหภูมิสูงและอบอ้าวมากกว่าแปลงนอกมุ้งเฉลี่ยตลอดฤดู 3-4 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของมันฝรั่งและเชื้อไวรัส ผลการทดลองได้น้ำหนักผลผลิตรวมและคุณภาพของผลผลิต T1 และ T3 มากกว่า T2 แต่ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ เช่นเดียวกันกับการปลูกมันฝรั่งในแปลงนอกมุ้ง การปลูกมันฝรั่งในฤดูฝนให้ผลผลิตน้อยกว่าฤดูหนาวถึง 3.4 เท่า