การปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวลูกผสมกะทิ
#1
การปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวลูกผสมกะทิ
สมชาย วัฒนโยธิน, สมเดช วรลักษณ์ภักดี และพิศวาท บัวรา
สถาบันวิจัยพืชสวน

          การปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวลูกผสมกะทิ เพื่อให้ได้พันธุ์มะพร้าวลูกผสมกะทิพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพดีทั้งเนื้อและความหอมหวาน ให้ผลผลิตสูงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ และเนื่องจากมะพร้าวน้ำหอมมีแหล่งกำเนิดในประเทศไทยเพียงแห่งเดียว ในการปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวกะทิให้มีคุณภาพทั้งเนื้อและความหอมหวาน จึงนำมะพร้าวน้ำหอมมาใช้เป็นแม่พันธุ์ในการปรับปรุงพันธุ์ด้วย เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมให้เกษตรกร ปลูกเป็นการค้าและส่งออก โดยดำเนินการทดลองที่สวนผลิตพันธุ์มะพร้าวลูกผสมคันธุลี ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี และสวนมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้บริษัทอูติเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมัน จำกัด อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างเดือนตุลาคม 2538 - กันยายน 2549 มีการดำเนินงานโดยใช้แม่พันธุ์มะพร้าวจำนวน 5 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์น้ำหอม สายพันธุ์มลายู สีเหลืองต้นเตี้ย สายพันธุ์มลายูสีแดงต้นเตี้ย สายพันธุ์ทุ่งเคล็ด และสายพันธุ์เวสท์อัฟริกันต้นสูง ส่วนพ่อพันธุ์มะพร้าว จำนวน 1 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์กะทิ โดยใช้ชื่อย่อเป็นชื่อสายพันธุ์ลูกผสมกะทิ ได้แก่ NHK YDK RDK TKK และ WAK ผลการทดลองสรุปผลได้ดังนี้ พบว่าสายพันธุ์ RDK และ TKK ออกจั่นเร็วที่สุด (27 เดือน) รองลงมา คือ YDK (29 เดือน) NHK (31 เดือน) และ WAK ช้าที่สุด (36 เดือน) และสายพันธุ์ TKK มีจำนวนต้นที่ออกจั่นครบ 50 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนต้นที่ปลูกเร็วที่สุด (36 เดือน) รองลงมา คือ YDK (37 เดือน) RDK (38 เดือน) NHK (39 เดือน)และ WAK ช้าที่สุด (48 เดือน) สำหรับผลผลิตมะพร้าวกะทิสายพันธุ์ YDK ในช่วงอายุ 4 - 7 ปี ให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิสูงสุด 661 ผลต่อไร่ (20 เปอร์เซ็นต์) ส่วนสายพันธุ์ WAK น้อยที่สุด 299 ผลต่อไร่ (16 เปอร์เซ็นต์) ส่วนผลผลิตที่เป็นมะพร้าวธรรมดาสายพันธุ์ YDK ยังคงให้ผลผลิตสูงสุดเช่นกัน 2,717 ผลต่อไร่ โดยสายพันธุ์ NHK ให้ผลผลิตน้อยที่สุด 1,569 ผลต่อไร่ เมื่อคำนวณรายได้ต่อไร่ ปีที่ 4 - 7 สายพันธุ์ YDK จะทำให้มีรายได้สูงสุด 28,008 บาทต่อไร่ โดยสายพันธุ์ WAK ให้รายได้ต่อไร่น้อยที่สุด 13,764 บาทต่อไร่ สำหรับ สายพันธุ์ NHK แม้จะให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิและธรรมดาจำนวน 1,917 ผลต่อไร่ (ช่วงอายุ 4 - 7 ปี) คิดเป็นอันดับที่ 4 แต่สายพันธุ์ NHK จะมีต้นที่ให้ผลผลิตเป็นกะทิน้ำหอม 55 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนต้นที่ปลูก ดังนั้นผลผลิตที่ได้สามารถจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าสายพันธุ์อื่นและสามารถปรับปรุงพันธุ์ให้ได้พันธุ์มะพร้าวกะทิน้ำหอมต้นเตี้ยพันธุ์แท้ต่อไป จากผลการทดลองพบว่า สายพันธุ์ YDK และ NHK เหมาะสมที่จะเสนอเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อเพิ่มรายได้ต่อไร่ให้สูงขึ้นกว่าการทำสวนมะพร้าวธรรมดา 3 - 4 เท่า
ตอบกลับ


ข้อความในเรื่องนี้
การปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวลูกผสมกะทิ - โดย doa - 06-30-2016, 02:59 PM



ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม