การปลูกและดูแลรักษาอ้อยที่เหมาะสมในเขตอาศัยน้ำฝนภาคตะวันตก
#1
การปลูกและดูแลรักษาอ้อยที่เหมาะสมในเขตอาศัยน้ำฝนภาคตะวันตก
วัฒนศักดิ์ ชมภูนิช, วัลลิภา สุชาโต, พูนศักดิ์ ดิษฐ์กระจัน และนริศร ขจรผล

          การศึกษาการปลูกและดูแลรักษาอ้อยที่เหมาะสมในเขตอาศัยน้ำฝนภาคตะวันตกในไร่เกษตรกร ต.แก้มอ้น อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ถึงมกราคม 2551 เป็นเวลา 1 ฤดูปลูก วางแผนการทดลองแบบ Split Plot Design มี 4 ซ้ำ ซึ่งมี Main plot คือ อ้อย 2 พันธุ์ สุพรรณบุรี 80 และอู่ทอง 6 และมี Sub plot คือ วิธีการปลูกและดูแลรักษาอ้อยมี 4 วิธีการ ประกอบด้วย 1) น้ำร้อน + Ripper + จอบหมุน 2) Ripper + จอบหมุน 3) จอบหมุน 4) ไม่มีการใช้เครื่องมือ 5) วิธีเกษตรกร

          เปอร์เซ็นต์หลุมงอกเมื่ออายุ 3 เดือนหลังเก็บเกี่ยวพบว่า อ้อยทั้ง 2 พันธุ์มีเปอร์เซ็นต์หลุมงอกไม่แตกต่างกันทางสถิติ โดยพันธุ์สุพรรณบุรี 80 มีหลุมงอก 96.56 % และพันธุ์อู่ทอง 6 มีหลุมงอก 95.78 % และด้านวิธีการมีเปอร์เซ็นต์หลุมงอกไม่แตกต่างกันทางสถิติ โดยมีหลุมงอกจากวิธีการที่ 1 - 5 เฉลี่ย 93.36, 96.10, 98.05, 98.44 และ 94.92 % ตามลำดับ ความสูงเมื่ออายุเก็บเกี่ยว 12 เดือน พบว่า อ้อยทั้ง 2 พันธุ์มีความสูงแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีพันธุ์อู่ทอง 6 มีความสูง สูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 80 โดยมีความสูงเฉลี่ย 346.16 และ 312.80 เซนติเมตร ตามลำดับ จำนวนลำต่อไร่ พบว่า อ้อยทั้ง 2 พันธุ์มีจำนวนลำต่อไร่ไม่แตกต่างกันทางสถิติแต่มีแนวโน้มว่า อ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี 80 จะมีจำนวนลำต่อไร่มากกว่าพันธุ์อู่ทอง 6 ซึ่งมีลำเฉลี่ย 9,606 และ 8,527 ลำ/ไร่ ตามลำดับ และด้านวิธีการพบว่า อ้อยมีจำนวนลำต่อไร่ไม่แตกต่างกันทางสถิติ แต่มีแนวโน้มว่าวิธีการของเกษตรกรโดยใช้พันธุ์จากไร่เกษตรกรเอง จะให้ผลผลิตจำนวนลำน้อยที่สุดเฉลี่ย 8,373 ลำ/ไร่ ในขณะที่วิธีการอื่นๆ ใช้พันธุ์จากแปลงขยายพันธุ์อ้อยพันธุ์ดีจะให้ผลผลิตสูงกว่า ซึ่งมีผลผลิตจำนวนลำต่อไร่จากวิธีการ 1 - 4 เฉลี่ย 8,657, 9,333, 9,551 และ 9,421 ลำ/ไร่ ตามลำดับ ผลผลิตน้ำหนักต่อไร่พบว่า อ้อยทั้ง 2 พันธุ์ ให้ผลผลิตน้ำหนักต่อไร่แตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง โดยมีพันธุ์สุพรรณบุรี 80 ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 6 ซึ่งมีผลผลิตเฉลี่ย 17.90 และ 12.64 ตัน/ไร่ และด้านวิธีการ พบว่า อ้อยให้ผลผลิตแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง โดยวิธีการ 1 - 3 จะให้ผลผลิตดีที่สุดเฉลี่ย 16.94, 15.30 และ 16.10 ตัน/ไร่ ตามลำดับ รองลงมาคือ วิธีการที่ 4 ซึ่งใช้พันธุ์อ้อยจากแปลงขยายพันธุ์ดีแต่ไม่ใช้เครื่องมือมีผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 14.96 ตัน/ไร่ และวิธีการเกษตรกรให้ผลผลิตน้ำหนักต่อไร่ต่ำสุดเฉลี่ย 13.04 ตัน/ไร่


ไฟล์แนบ
.pdf   887_2551.pdf (ขนาด: 949.7 KB / ดาวน์โหลด: 479)
ตอบกลับ


ข้อความในเรื่องนี้
การปลูกและดูแลรักษาอ้อยที่เหมาะสมในเขตอาศัยน้ำฝนภาคตะวันตก - โดย doa - 06-29-2016, 02:56 PM



ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม