วิจัยปริมาณสารพิษตกค้าง Deltamethrin ในมะม่วงเพื่อกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้าง
#1
วิจัยปริมาณสารพิษตกค้าง Deltamethrin ในมะม่วง เพื่อกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้าง (ครั้งที่ 3 และ 4)
ยงยุทธ ไผ่แก้ว และประภัสสรา พิมพ์พันธุ์

         ศึกษาการสลายตัวของสารพิษตกค้างเดลต้าเมทธรินในมะม่วง เพื่อกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้างโดยทดลองในแปลงมะม่วงของเกษตรกร ที่อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี และอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง โดยได้ทำการทดลองในช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายน 2551 ในแต่ละแปลง แบ่งเป็น 2 การทดลองคือ การทดลองที่ 1 ฉีดพ่นสารเดลต้าเมทธริน 3% W/V EC ตามอัตราแนะนำในมะม่วง คือ 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ20 ลิตร ส่วนการทดลองที่ 2 ไม่มีการฉีดพ่นสารเป็นแปลงเปรียบเทียบ แต่ละการทดลองทำ 3 ซ้ำ ฉีดพ่นสารเดลต้าเมทธริน ในระยะที่ผลมะม่วงมีอายุก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 1 เดือน ฉีดพ่นรวม 4 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 สัปดาห์ หลังจากฉีดพ่นสารครั้งสุดท้าย สุ่มเก็บตัวอย่างมะม่วงไปตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารพิษตกค้า้งเดลตา้เมทธรินระยะเวลา 0, 1, 3, 5, 7, 10, 14 และ 21 วัน โดยใช้เ้ทคนิคทางแก๊สโครมาโตกราฟฟี ณ ห้องปฏิบัติการ กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ผลการวิจัย ในแปลงทดลองที่ 3 พบปริมาณเดลต้าเมทธรินตกค้างในมะม่วงมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.17, 0.14, 0.09, 0.05, 0.04, 0.03, 0.02 และ 0.02 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (mg/kg) ที่ระยะ 0, 1, 3, 5, 7, 10, 14 และ 21 วัน ภายหลังการฉีดพ่นครั้งสุดท้าย ส่วนในแปลงทดลองที่ 4 พบปริมาณเดลต้าเมทธรินตกค้างในมะม่วงมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.28, 0.22, 0.17, 0.11, 0.09, 0.08, 0.05 และ 0.02 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (mg/kg) ที่ระยะ 0, 1, 3, 5, 7, 10, 14 และ 21 วัน ภายหลังการฉีดพ่นครั้งสุดท้าย นอกจากนี้ยังได้สำรวจตัวอย่างมะม่วงจากแหล่งจำหน่ายต่างๆ ใน 15 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม ราชบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา สมุทรสาคร สระบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี จำนวน 40 ตัวอย่าง ผลปรากฏว่า ตรวจไม่พบสารพิษตกค้างเดลต้าเมทธรินในทุกตัวอย่าง และยังได้ตรวจสารพิษตกค้างกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ออร์กาโนคลอรีน และไพรีทรอยด์ ด้วยเครื่องแก๊สโครมาโตกราฟ ที่มีหัวตรวจวัดเป็นแบบ Flame Photometric Detector (FPD) และ Electron Captured Detector (ECD) ผลปรากฏว่าตรวจพบสารพิษตกค้างชนิด ไซเปอร์เมทธริน และ คลอร์ไพริฟอส ร้อยละ 17.5 และ 2.5 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด ในปริมาณ 0.01 - 0.19 และ 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ


ไฟล์แนบ
.pdf   931_2551.pdf (ขนาด: 948.36 KB / ดาวน์โหลด: 863)
ตอบกลับ


ข้อความในเรื่องนี้
วิจัยปริมาณสารพิษตกค้าง Deltamethrin ในมะม่วงเพื่อกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้าง - โดย doa - 06-29-2016, 01:51 PM



ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม