การศึกษาวิเคราะห์และปริมาณความเสี่ยงศัตรูพืชของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดนำเข้าจากอินเดีย
#1
การศึกษาวิเคราะห์และปริมาณความเสี่ยงศัตรูพืชของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดนำเข้าจากอินเดีย
ณัฏฐพร อุทัยมงคล และวาสนา ฤทธ์ไธสง
กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ข้าวโพด (Corn/ Maize; Zae may L.) เป็นพืชในตระกูลเดียวกับหญ้า มีลำต้นสูง เมล็ดจากฝักใช้เป็นอาหารคนและสัตว์ ประเทศไทยมีสถิติการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและข้าวโพดหวานประมาณ 2.79 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 161 ล้านบาท (ม.ค. - พ.ย. 2553) โดยปริมาณการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดจากประเทศจากประเทศอินเดียประมาณ 0.86 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 42.7 ล้านบาท ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4 ของปริมาณการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดทั้งหมด ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดจัดเป็นสิ่งต้องห้าม (Prohibited materials) โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2551 การขออนุญาตนำเข้าต้องผ่านกาารวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชก่อน ซึ่งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกำหนด จากผลการศึกษาโดยการสำรวจในประเทศไทยและประเทศคู่ค้า และการรวบรวมเอกสารพบว่า มีสิ่งมีชีวิตที่รายงานเป็นศัตรูของข้าวโพดรวมทั้งสิ้นจำนวน 505 ชนิด เป็นไร 12 ชนิด แมลง 184 ชนิด เชื้อแบคทีเรีย 21 ชนิด เชื้อรา 97 ชนิด ไส้เดือนฝอย 46 ชนิด เชื้อไวรัส 13 ชนิด วัชพืช 129 ชนิด และสัตว์ฟันแทะ 3 ชนิด นำศัตรูที่ไม่มีในประเทศไทยมาพิจารณาเฉพาะที่สามารถติดมากับเส้นทางศัตรูพืชคือ เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดรวม 38 ชนิด คือ ไร 1 ชนิด แมลง 13 ชนิด เชื้อแบคทีเรีย 2 ชนิด เชื้อรา 15 ชนิด เชื้อไวรัส 1 ชนิด และวัชพืช 8 ชนิด นำศัตรูพืชแต่ละชนิดมาวิเคราะห์ตามแนวทางการวิเคราะห์ความเสี่ยง จากการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชพบศัตรูพืชที่สามารถติดมากับเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและมีศักยภาพเป็นศัตรูพืชกักกัน โดยพบศัตรูพืชที่จัดเป็นศัตรูพืชกักกันคือ ไร ได้แก่ Lepidoglyphus destructor แมลง ได้แก่ Delia platura, Liposcelis paeta, Trogoderma glabrum, Trogoderma granarium เชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ Pseudomonas syringae pv. lapsa เชื้อรา ได้แก่ Acremonium maydis, Acremonium strictum, Cochliobolus setariae, Peronosclerospora maydis, Pyrenophora teres, Pyricularia setariae, Sphacelotheca reiliana, Stenocarpella macrospora และวัชพืช ได้แก่ Ambrosia artemisiifolia, cirsium arvense, Solanum carolinense, Solanum elaeagnifolium, Spergula arvensis, striga angustifolia และ Striga densiflora สำหรับมาตรการจัดการความเสี่ยงในเบื้องต้นเพื่อจัดการความเสี่ยงศัตรูพืชที่อาจติดมากับเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดสามารถทำได้โดยการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่มีความต้านทานต่อแมลงและโรค การคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารเคมี การนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่ปราศจากศัตรูพืชกักกัน และการตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ก่อนมีการส่งต่อไปยังแหล่งปลูกอื่นๆ เป็นต้น


ไฟล์แนบ
.pdf   1657_2553.pdf (ขนาด: 158.43 KB / ดาวน์โหลด: 720)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม