การพัฒนาระบบการซื้อขายยางแบบข้อตกลง
#1
การพัฒนาระบบการซื้อขายยางแบบข้อตกลง
สุวิทย์  รัตนพงศ์, อัญญาณี  จันทร์ภักดี, อธิวีณ์  แดงกนิษฐ์ และศยามล  แก้วบรรจง
สำนักงานตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช  สถาบันวิจัยยาง 

          การซื้อขายยางแบบข้อตกลงเป็นช่องทางที่สามารถลดภาวะความเสี่ยงจากการขาดทุนหากราคายางตกต่ำหรือผันผวนให้แก่เกษตรกรผู้ผลิตยาง เกษตรกรสามารถขายยางได้ที่ราคาเดิมแม้จะอยู่ในช่วงที่ราคายางเกิดการผันผวนหรือตกต่ำก็ตาม ในการวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวการปฏิบัติและวิธีการซื้อขายยางแบบข้อตกลงที่เหมาะสม ซึ่งมีตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราชเป็นตัวกลางสร้างหลักประกันให้แก่ผู้ซื้อและผู้ขาย และเพื่อพัฒนาระบบตลาดกลางยางพาราให้เป็นตลาดซื้อขายยางแบบข้อตกลง ส่งผลต่อเสถียรภาพราคายาง สร้างความเข้าใจให้แก่เกษตรกรด้านกลไกการตลาด รู้จักแบ่งสัดส่วนการขายยางในช่องทางต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมและไม่เสี่ยงต่อภาวะขาดทุน ซึ่งจากการทดลองเปิดการซื้อขายที่ผ่านมาไม่พบการบิดพลิ้วสัญญาทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย แสดงให้เห็นถึงข้อกำหนดและรูปแบบที่ตลาดกลางฯ สร้างขึ้น เป็นที่ยอมรับเกิดประโยชน์และมีความเป็นธรรม และในการสังเกตพฤติกรรมการขายยางตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2553 ถึง 29 กันยายน 2553 จำนวน 34 ครั้ง พบว่า ปริมาณยางเสนอขายและสัดส่วนการแบ่งขายระหว่างตลาดซื้อขายยางแบบข้อตกลงกับตลาดปัจจุบัน แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ ช่วงที่ราคายางปรับตัวลดลง ปริมาณยางเสนอขายเฉลี่ย 46,398 กิโลกรัมต่อครั้ง ใกล้เคียงกับปริมาณสูงสุดที่กำหนดไว้ 50,000 กิโลกรัม และแบ่งปริมาณการขายในตลาดซื้อขายยางแบบข้อตกลงมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดปัจจุบัน ในช่วงที่ราคายางผันผวน ปริมาณยางเสนอขายเฉลี่ย 45,745 กิโลกรัมต่อครั้ง และแบ่งปริมาณการขายในตลาดซื้อขายยางข้อตกลงมากกว่าหรือใกล้เคียงเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดปัจจุบัน และในช่วงราคายางปรับตัวสูงขึ้น ปริมาณยางเสนอขายจะต่ำเฉลี่ย 32,265 กิโลกรัมต่อครั้ง แต่แบ่งปริมาณการขายในตลาดซื้อขายยางแบบข้อตกลงมากกว่าหรือใกล้เคียงเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดปัจจุบัน ทั้งนี้การตัดสินใจขายและปริมาณการขายจะอยู่ภายใต้การวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต กำไรที่ควรได้รับ แนวโน้มและสถานการณ์ราคาในแต่ละรอบการผลิต รวมถึงศักยภาพการผลิตในขณะนั้น


ไฟล์แนบ
.pdf   1544_2552.pdf (ขนาด: 356.54 KB / ดาวน์โหลด: 934)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม