การทดสอบพันธุ์ยางในเขตปลูกยางเดิม
#1
การทดสอบพันธุ์ยางในเขตปลูกยางเดิม
ศุภมิตร  ลิมปิชัย, กรรณิการ์ ธีระวัฒนสุข, ภัทรา กิณเรศ, 
นริสา จันทร์เรือง, อุไร จันทรประทิน, พิชิต สพโชค, 
ปัทมา ชนะสงคราม, ทรงเมท สังข์น้อย และวรรณจันทร์ โฆรวิส
ศูนย์วิจัยยางสงขลา และศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา  สถาบันวิจัยยาง

          เพื่อศึกษาการปรับตัวของพันธุ์ยางที่คัดเลือกได้ใหม่ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในเขตปลูกยางเดิม และเป็นแหล่งเรียนรู้เผยแพร่พันธุ์ยางใหม่ออกสู่เกษตรกร ได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางและองค์การสวนยาง ใช้พันธุ์ยางจำนวน 14 พันธุ์/สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ RRIT 312, RRIT 319, RRIT 402, RRIT 403, RRIT 404,  RRIT 405, RRIT 406, RRIT 408, RRIT 412, RRI-CH-35-1372, No6 B5/2529 และ OP-CH-35-2002 และพันธุ์เปรียบเทียบ 2 พันธุ์ ได้แก่ RRIT 251 และ RRIM 600 ปลูกทดสอบในพื้นที่ของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดพัทลุง สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดกระบี่ และองค์การสวนยางจังหวัดนครศรีธรรมราชรวม 3 แปลง ใช้เนื้อที่แปลงละประมาณ 42 ไร่ แบ่งเนื้อที่อกเป็นแปลงย่อย ๆ ละ 3 ไร่ ไม่แบ่งซ้ำ ใช้ระยะปลูก 3x7 เมตร และใช้ต้นยางชำถุงปลูก 76 ต้นต่อไร่ ผลการดำเนินการปลูกยางเมื่อเดือนกันยายน–ตุลาคม 2551 ในแปลงจังหวัดพัทลุง กระบี่ และนครศรีธรรมราช จำนวน 3,303 ต้น 3,304 ต้น และ 3,033 ต้น ตามลำดับ ผลการปลูกพบว่ามีต้นยางตายหลังจากปลูกปีที่ 1 ร้อยละ 20.3 และปีที่ 2 ร้อยละ 13.8 เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนและมีช่วงฤดูแล้งนานกว่าปกติ การวัดความเจริญเติบโตของต้นยางขณะอายุ 2 ปี พบว่า แปลงพัทลุงมีพันธุ์ยางเจริญเติบโตดีกว่าพันธุ์ RRIT 251 และ RRIM 600 จำนวน 3 และ 4 พันธุ์ ตามลำดับ โดยพันธุ์ที่เจริญเติบโตดีที่สุด 3 อันดับแรกคือ RRIT 405, RRIT 402 และ RRIT 408 แปลงกระบี่มีพันธุ์ยางเจริญเติบโตดีกว่าพันธุ์ RRIT 251 และ RRIM 600 จำนวน 10 และ 12 พันธุ์ ตามลำดับ โดยพันธุ์ที่เจริญเติบโตดีที่สุด 3 อันดับแรกคือ RRIT 406, RRIT 403 และ RRIT 412 และแปลงนครศรีธรรมราชมีพันธุ์ยางเจริญเติบโตดีกว่าพันธุ์ RRIM 600 จำนวน 3 พันธุ์คือ RRIT 251, RRIT 319 และ RRI-CH-35-1372 และจากการสำรวจโรคต่าง ๆ ในปี 2553 พบว่า ทุกแปลงมีโรคใบจุดนูนระบาดในระดับไม่รุนแรง โดยพบอาการของโรคในยางบางพันธุ์โดยเฉพาะพันธุ์ RRIT 251 จะพบอาการของโรคทุกแปลง


ไฟล์แนบ
.pdf   1522_2552.pdf (ขนาด: 341.94 KB / ดาวน์โหลด: 1,092)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม