12-21-2015, 02:16 PM
ศึกษาการสลายตัวและพฤติกรรมการปลดปล่อยธาตุอาหารพืชของปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยผสมอินทรีย์เคมี ภายใต้สภาพความชื้นสนาม: การทดลองย่อย ศึกษาการสลายตัวและพฤติกรรมการปลดปล่อยธาตุอาหารของปุ๋ยหมัก
ศุภกาญจน์ ล้วนมณี, สมฤทัย ตันเจริญ, ภาวนา ลิกขนานนท์ และสุปรานี มั่นหมาย
กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
ศุภกาญจน์ ล้วนมณี, สมฤทัย ตันเจริญ, ภาวนา ลิกขนานนท์ และสุปรานี มั่นหมาย
กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
ปุ๋ยอินทรีย์แต่ละชนิดมีคุณสมบัติ ปริมาณธาตุอาหาร และการปลดปล่อยธาตุอาหารแตกต่างกัน ในขณะที่ผู้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปลดปล่อยธาตุอาหารของปุ๋ยอินทรีย์ ดังนั้นเพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับนำมาถ่ายทอดให้ความเข้าใจแก่ผู้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ จึงทำการศึกษาการปลดปล่อยไนโตรเจนของปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกชนิดต่างๆ ในชุดดินยโสธร และชุดดินปากช่องภายใต้สภาพความชื้นสนามโดยทำการบ่มมูลสุกร มูลโค มูลไก่ ปุ๋ยหมักมูลสุกร ปุ๋ยหมักมูลโค และปุ๋ยหมักกากตะกอน ในชุดดินยโสธร และชุดดินปากช่อง ปรับความชื้นของดินให้อยู่ที่ 60% ของความสามารถในการอุ้มน้ำของดิน และที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส ในตู้ควบคุมอุณหภูมิ เก็บตัวอย่างที่ระยะการบ่มต่างๆ มาวิเคราะห์แอมโมเนียมไนเตรท และดักจับคาร์บอนไดออกไซด์
ผลการทดลองพบว่า มูลสุกร มูลโค และมูลไก่ เมื่อบ่มในชุดดินยโสธรสามารถปลดปล่อยอนินทรีย์ไนโตรเจนประมาณ 15-20 กรัม N ต่อ 100 กรัมของปริมาณไนโตรเจนทั้งหมดที่เป็นองค์ประกอบ โดยอัตราการปลดปล่อยจะเกิดขึ้นสูงใน 2 สัปดาห์แรก ประมาณ 3-12 กรัม N ต่อ 100 กรัมไนโตรเจนทั้งหมด และหลังจากสัปดาห์ที่ 2 อัตราการปลดปล่อยอนินทรีย์ไนโตรเจนจะเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนการบ่มปุ๋ยหมักกากตะกอน ปุ๋ยมูลสุกร และปุ๋ยหมักมูลโค ในชุดดินปากช่อง พบว่า ปุ๋ยหมักกากตะกอนปลดปล่อยอนินทรีย์ไนโตรเจนประมาณ 35 กรัม N ต่อ 100 กรัมของไนโตรเจนทั้งหมดที่เป็นองค์ประกอบ ในขณะที่ปุ๋ยหมักมูลสุกร และปุ๋ยหมักมูลโค ปลดปล่อยอนินทรีย์ 20 และ 5 กรัม N ต่อ 100 กรัมของไนโตรเจนทั้งหมด ตามลำดับ โดยอัตราการปลดปล่อยอนินทรีย์ไนโตรเจนของปุ๋ยหมักกากตะกอน ปุ๋ยหมักมูลสุกร และปุ๋ยหมักมูลโค เกิดขึ้นสูงสุดในวันแรกของการบ่ม ประมาณ 5-10 กรัม N ต่อ 100 กรัมของไนโตรเจนทั้งหมดต่อวัน แล้วลดลงเหลือต่ำกว่า 1 กรัม N ต่อ 100 กรัมของไนดตรเจนทั้งหมดต่อวัน ภายใน 7-14 วันหลังการบ่ม
จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าภายใน 2 สัปดาห์แรก ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆ ปลดปล่อยอนินทรีย์ไนโตรเจนได้ประมาณ 15-35 เปอร์เซ็นต์ของไนโตรเจนทั้งหมดที่เป็นองค์ประกอบซึ่งแตกต่างจากปุ๋ยเคมีที่สามารถละลายน้ำและให้ธาตุอาหารในรูปที่เป็นประโยชน์ให้พืชสามารถนำไปใช้ได้ทันที