ศึกษาประสิทธิภาพของกากตะกอนบ่อเกรอะในการปรับปรุงดินชุดดินปากช่องภายใต้การปลูกข้าวโพด
#1
ศึกษาประสิทธิภาพของกากตะกอนบ่อเกรอะในการปรับปรุงดินชุดดินปากช่องภายใต้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ศุภกาญจน์ ล้วนมณี, เข็มพร เพชราภรณ์, สมฤทัย ตันเจริญ และอนันต์ ทองภู่
กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          กากตะกอนบ่อเกรอะเป็นแหล่งของวัสดุอินทรีย์ที่สำคัญแต่มีข้อจำกัดในการนำมาใช้ประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปนเปื้อนของเชื้อโรค การผลิตปุ๋ยอินทรีย์โดยการอบความร้อนเป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่เหมาะสมต่อการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากกากตะกอนบ่อเกรอะ ทำให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ปราศจากเชื้อโรคและกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ อย่างไรก็ตามปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตโดยวิธีดังกล่าวอาจมีประสิทธิภาพแตกต่างกันไปตามคุณสมบัติของวัตถุดิบและวิธีการผลิต ดังนั้นจึงนำกากตะกอนบ่อเกรอะที่อบความร้อนที่อุณหภูมิ 160 องศาเซลเซียส มาทดสอบประสิทธิภาพในการปรับปรุงดิน โดยวางแผนการทดลองแบบ 3x4 factorials in RCB มี 12 กรรมวิธี 4 ซ้ำ เปรียบเทียบประสิทธิภาพของกากตะกอนบ่อเกรอะที่ผ่านการอบความร้อนกับกรรมวิธีที่ไม่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ กรรมวิธีที่ใส่กากตะกอนน้ำเสียที่ผ่านการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในระบบ activated sludge และกรรมวิธีที่ใส่มูลไก่อัดเม็ด โดยใส่ในอัตราที่ให้ไนโตรเจน 20 กิโลกรัม N ต่อไร่ ร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมี 0-8-4 8-8-4 และ 16-8-4 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ทำการทดลองในชุดดินปากช่องและปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์นครสวรรค์ 2

      ผลการทดลองพบว่า การใส่กากตะกอนบ่อเกรอะที่อบความร้อนทำให้ดินมีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์และโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้เพิ่มขึ้นโดยมีความเข้มข้นเฉลี่ย 17-25 มิลลิกรัม P ต่อดิน 1 กิโลกรัม 128-174 มิลลิกรัม K ต่อดิน 1 กิโลกรัม ตามลำดับ แต่ต่ำกว่ากรรมวิธีที่ใส่มูลไก่อัดเม็ดซึ่งพบว่า ดินมีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ 47-60 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ 215-259 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในขณะที่การใส่กากตะกอน activated sludge ทำให้ดินมีทองแดงและสังกะสีเพิ่มสูงกว่ากรรมวิธีอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ (P<0.01) ส่วนปริมาณอินทรียวัตถุในดินในกรรมวิธีต่างๆ ไม่แตกต่างกัน การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ทั้ง 3 ชนิด ร่วมกับปุ๋ยเคมี 0-8-4 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ให้ผลผลิตข้าวโพด 1,076-1,159 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่ากรรมวิธีที่ไม่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งให้ผลผลิต 952 กิโลกรัม/ไร่ แต่เมื่อใส่ปุ๋ยเคมี 8-8-4 และ 16-8-4 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ พบว่าทุกกรรมวิธีทั้งไม่ใส่และใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้ผลผลิตไม่แตกต่างกัน โดยให้ผลผลิตอยู่ในช่วง 1,068-1,157 กิโลกรัม/ไร่ ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากากตะกอนจากบ่อเกรอะที่อบความร้อนจนกระทั่งถึงอุณหภูมิ 160 องศาเซลเซียส สามารถใช้ในการปรับปรุงดินและการผลิตพืชได้โดยมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างจากกากตะกอน activated sludge แต่ด้อยกว่ามูลไก่อัดเม็ด


ไฟล์แนบ
.pdf   1932_2553.pdf (ขนาด: 1.34 MB / ดาวน์โหลด: 742)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม