วิจัยการสลายตัวของสารพิษตกค้าง chlorpyrifos ในถั่วเหลืองฝักสด
#1
วิจัยการสลายตัวของสารพิษตกค้าง chlorpyrifos ในถั่วเหลืองฝักสด เพื่อกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้าง [MRLs] ครั้งที่ 1 และ 2
ลมัย ชูเกียรติวัฒนา และปิยะศักดิ์ อรรคบุตร
กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          การศึกษาการสลายตัวของคลอร์ไพริฟอสในถั่วเหลืองฝักสดครั้งที่ 1 และ 2 ได้ทำแปลงทดลองที่อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2553 และที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2553 ตามลำดับ โดยทำการทดลองแบบ Supervised Trial มี 2 การทดลองคือ แปลงควบคุมและแปลงแนะนำ (พ่นคลอร์ไพริฟอสชนิด 40% w/v EC อัตรา 50 มล.ต่อน้ำ  20 ลิตร ซึ่งเท่ากับ 100 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อน้ำ 100 ลิตรต่อไร่) แปลงอัตราแนะนำมี 3 ซ้ำ 7 กรรมวิธีซึ่งได้แก่ ระยะเวลาที่เก็บตัวอย่างถั่วเหลืองฝักสดมาวิเคราะห์สารพิษตกค้าง (0, 1, 3, 5, 7, 10 และ 14 วัน ภายหลังการพ่นคลอร์ไพริฟอสครั้งสุดท้าย) เริ่มพ่นคลอร์ไพริฟอสครั้งแรกเมื่อถั่วเริ่มติดฝักและพ่นทุก 7 วัน รวม 3 ครั้ง ผลการทดลองพบว่า เมื่อใช้สารในอัตราแนะนำถั่วเหลืองฝักสดมีคลอร์ไพริฟอสตกค้าง 4.63, 1.26, 0.71, 0.80, 0.55, 0.37 และ 0.10 มก./กก. ที่ระยะเวลา 0, 1, 3, 5, 10 และ 14 วัน ภายหลังการพ่นครั้งสุดท้ายตามลำดับ ส่วนแปลงทดลองครั้งที่ 2 พบว่า เมื่อใช้สารในอัตราแนะนำถั่วเหลืองฝักสดมีคลอร์ไพริฟอสตกค้าง 5.87, 5.83, 2.11, 1.04, 0.73, 0.58 และ 0.31 มก./กก. ดังนั้น ถ้าเกษตรกรใช้คลอร์ไพริฟอสกับถั่วเหลืองฝักสดตามคำแนะนำของฉลากก็ยังคงพบสารตกค้างคลอร์ไพริฟอส 0.10 - 0.31 มก./กก. ดังนั้นการใช้คลอร์ไพริฟอสในถั่วเหลืองฝักสดควรเว้นระยะก่อนการเก็บเกี่ยวมากกว่า 14 วัน เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและไม่เป็นอุปสรรคในการส่งออก และจาการเก็บตัวอย่างถั่วเหลืองฝักสดจากแหล่งจำหน่าย จำนวน 20 ตัวอย่าง มาวิเคราะห์ไม่พบสารพิษตกค้างในทุกตัวอย่าง


ไฟล์แนบ
.pdf   1922_2553.pdf (ขนาด: 1,010.34 KB / ดาวน์โหลด: 2,041)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม