วิจัยปริมาณสารพิษตกค้างอีไธออนในส้มเขียวหวาน เพื่อกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้าง
#1
วิจัยปริมาณสารพิษตกค้างอีไธออนในส้มเขียวหวาน เพื่อกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้าง (ครั้งที่ 1-2)
ยงยุทธ ไผ่แก้ว, น้ำเย็น ศิริพัฒน์ และประภัสสรา พิมพ์พันธุ์
กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          ศึกษาปริมาณสารพิษตกค้างของอีไธออนในส้มเขียวหวาน ณ แปลงเกษตรกร จำนวน 2 แปลง ในพื้นที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงเดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม 2552 และอำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม 2553 ในแต่ละแปลง แบ่งเป็น 2 การทดลองคือ การทดลองที่ 1 ฉีดพ่นสารอีไธออน 50% w/v EC ตามอัตราแนะนำในส้มโอคือ 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ส่วนการทดลองที่ 2 ไม่มีการฉีดพ่นสารเป็นแปลงเปรียบเทียบ แต่ละการทดลองทำ 3 ซ้ำๆ ละ 4 ต้น ฉีดพ่นสารอีไธออนในระยะที่ผลส้มเขียวหวานมีอายุก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 1 เดือน ฉีดพ่นรวม 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน หลังจากฉีดพ่นสารครั้งสุดท้าย สุ่มเก็บตัวอย่างส้มเขียวหวานไปตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารพิษตกค้างอีไธออน ที่ระยะเวลา 0, 1, 3, 7, 14, 21 และ 28 วัน โดยใช้เทคนิคทางแก๊สโครมาโตกราฟี ผลการวิจัยในแปลงทดลองที่ 1 จ.เชียงใหม่ พบปริมาณอีไธออนตกค้างในส้มเขียวหวานมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.72, 1.44, 1.14, 0.98, 0.60, 0.13 และ 0.08 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในแปลงทดลองที่ 2 จ.ชัยนาท พบปริมาณอีไธออนตกค้างในส้มเขียวหวานมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.90, 1.59, 1.09, 0.27, 0.09, 0.06 และ 0.04 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ที่ระยะ 0, 1, 3, 7, 14, 21 และ 28 วัน ภายหลังการฉีดพ่นครั้งสุดท้าย ตามลำดับ พบว่าต้องทิ้งระยะเพื่อเก็บเกี่ยวที่ปลอดภัยมากถึง 14 วัน นอกจากนี้ยังได้สำรวจตัวอย่างส้มเขียวหวานจากแหล่งจำหน่ายต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 59 ตัวอย่าง ผลปรากกว่า ตรวจพบสารพิษตกค้างอีไธออน จำนวน 41 ตัวอย่าง (ร้อยละ 69.5) ในปริมาณ 0.02-2.70 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม Codex MRL ได้กำหนดค่าของสารพิษตกค้างอีไธออนในพืชตระกูลส้ม (citrus fruits) ไว้เท่ากับ 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่ของประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 1.0 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม


ไฟล์แนบ
.pdf   1925_2553.pdf (ขนาด: 1.32 MB / ดาวน์โหลด: 844)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม