ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตขยายเชื้อโปรโตซัวในงูเหลือมสภาพโรงเรือน
#1
ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตขยายเชื้อโปรโตซัวในงูเหลือมสภาพโรงเรือน
ยุวลักษณ์ ขอประเสริฐ, ดาราพร รินทะรักษ์ และปราสาททอง พรหมเกิด
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตและความแข็งแรงของงูเหลือมที่เลี้ยงในกรงเลี้ยง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตขยายเชื้อโปรโตซัวระยะสปอร์โรซีสต์ที่ทำให้หนูป่วยและตายได้นั้น ทำการทดลองในกรงเลี้ยงงูทั้งที่ตั้งอยู่ภายในและภายนอกโรงเรือนที่กลุ่มงานสัตววิทยาการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาการอารักพืช กรมวิชาการเกษตร กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 - 2553 โดยทำการบันทึกข้อมูลด้านอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ในแต่ละวันเป็นเวลา 3 ปี การให้อาหารและน้ำหนักงูเหลือมก่อนการทดลองและหลังการทดลอง ตามยาวงูเหลือมก่อนและหลังการทดลอง การขยายพันธุ์งูเหลือม อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ในลังฟักไข่งู

          ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า อุณหภูมิในแต่ละวันทั้งกลางวันและกลางคืนมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของงูเหลือม พฤติกรรมการกินอาหาร และการขยายพันธุ์ในสภาพกรงเลี้ยง (ในโรงเรือนอุณหภูมิเฉลี่ย 29.87 ± 1.37 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 82.73 ± 5.82% ส่วนกรงเลี้ยงภายนอกมีอุณหภูมิเฉลี่ย 30.74 ± 1.79 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 83.37 ± 4.29%) หนูและไก่รุ่นที่ฆ่าใหม่ ๆ หรือไก่สดแช่แข็งเหมาะเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงงูเหลือมในกรงเลี้ยง สำหรับหนูเหมาะเป็นอาหารของงูเหลือมอายุ 1 อาทิตย์ ไปจนถึงงูขนาดเล็กมากกว่างูขนาดกลางและขนาดใหญ่ และน้ำหนักงูเหลือมมีความสัมพันธ์กับความยาวของงูเหลือม (R2 = 0.5805) ส่วนน้ำหนักงูเหลือมของทั้งเพศเมียและเพศผู้ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายพันธุ์ สำหรับอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ในการฟักไข่ในกล่องโฟมฟักที่เหมาะสมเฉลี่ย 31.9 ± 1.19 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 88 ± 4.0% ตามลำดับ สำหรับงูขนาดใหญ่และกลางเหมาะที่จะเลี้ยงเพื่อผลิตขยายโปรโตซัวระยะสปอร์โรซีสต์ให้ได้ปริมาณมาก นอกจากนี้ยังพบว่า การเลี้ยงงูเหลือมในสภาพโรงเรือนมักพบการระบาดของโรคติดเชื้อ (Entaamoeba invadens) ในงูขนาดใหญ่ ซึ่งมาจากงูเหลือมที่ได้จากธรรมชาติ และสามารถติดต่อกันได้ผ่านทางผู้ดูแลงู และผ่านทางน้ำที่ไหลผ่านกรงเลี้ยง

          สรุปได้ว่า สำหรับการเลี้ยงงูเหลือมในกรงเลี้ยงภายในโรงเรือนเพื่อผลิตขยายโปรโตซัวระยะสปอร์โรซีสต์ เป็นสารชีวินทรีย์กำจัดหนู นอกจากปัจจัยด้านอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และอาหารที่เหมาะสมแล้ว สิ่งที่ควรคำนึงคือ โรคติดต่อระบาดจากเชื้ออมีบา Entaamoeba invadens ในงูเหลือม


ไฟล์แนบ
.pdf   1638_2553.pdf (ขนาด: 200.96 KB / ดาวน์โหลด: 864)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม