ประสิทธิภาพของสารควบคุมไส้เดือนฝอยเพื่อป้องกันกำจัดโรครากปมในพริก
#1
ประสิทธิภาพของสารควบคุมไส้เดือนฝอยเพื่อป้องกันกำจัดโรครากปมในพริก
มนตรี เอี่ยมวิมังสา, ไตรเดช ข่ายทอง, ธิติยา สารพัฒน์ และพเยาว์ พรหมพันธุ์ใจ
กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ทำการศึกษาในพื้นที่ปลูกพริกของเกษตรกรที่มีประวัติการระบาดของไส้เดือนฝอยรากปม Meloidogyne incognita (Kofoid and White) Chitwood ตำบลโพนแพง อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ตรวจดินพบว่า มีปริมาณตัวอ่อนระยะที่สองของไส้เดือนฝอยรากปมจำนวน 351.6 ตัว/ดิน 500 กรัม วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 5 กรรมวิธี 5 ซ้ำ ปลูกพริกพันธุ์หัวเรือ (Capsicum frutescens L. var. frutescens cv. Phrik Hua Ruea) เมื่ออายุกล้าได้ 1 เดือน จากศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี แล้วคลุกดินด้วยสารเคมีชนิดเม็ด (Granule) 3 ชนิดคือ คาร์โบฟูราน (carbofuran), ไดโนทีฟูแรน (dinotefuran) และฟิโปรนิล (fipronil) โดยมีสารฟิโปรนิล ชนิดสารผสมแขวนลอย (SC) ผสมน้ำราดดินเป็นกรรมวิธีที่ 4 และมีการไม่ใช้สารเป็นกรรมวิธีเปรียบเทียบ เมื่อพริกแก่ผลเริ่มมีสีแดง เก็บรวมน้ำหนักผลผลิตพริกไปจนต้นเริ่มวาย จึงขุดเก็บรากพริกวิเคราะห์ดัชนีโรครากปมวิเคราะห์ผลผลิตของพริกพบว่า การใช้สารไดโนทีฟูแรนอัตรา 5 กรัม/ต้น เกิดปมที่ระดับ 1.22 ได้ผลผลิตพริกสูงสุด 1.11 กิโลกรัม/ต้น การใช้ฟิโปรนิลชนิดเม็ดอัตรา 5 กรัม/ต้น ทำให้พริกเกิดโรครากปมน้อยลง มีคะแนนโรครากปมอยู่ที่ 1.82 ให้ผลผลิตพริก 1.02 กิโลกรัม/ต้น รองลงมาคือ การใช้ฟิโปรนิล สารเดิมชนิดน้ำ ในอัตรา 4 มิลลิลิตร/น้ำ 1 ลิตร/ต้น เกิดปมที่ระดับ 2.50 ได้ผลผลิตพริก 0.69 กิโลกรัม/ต้น ให้ผลผลดีกว่าการใช้คาร์โบฟูรานที่ยังเกิดปมสูงถึง 3.01 และมีผลผลิตเพียง 0.60 กิโลกรัม/ต้น เปรียบเทียบกับแปลงไม่ใช้สารเคมีซึ่งเกิดปมระดับ 4.56 ให้ผลผลิต 0.55 กิโลกรัม/ต้น การทดลองสรุปได้ว่าการใช้สารไดโนทีฟูแรนชนิดเม็ดอัตรา 5 กรัม/ต้น ทำให้พริกเกิดมีคะแนนโรครากปมอยู่ที่ 1.22 ให้ผลผลิตพริกสูงสุด 1.11 กิโลกรัม/ต้น ให้ผลในการกำจัดโรครากปมของพริกในแปลงของเกษตรกรดีกว่ากรรมวิธีอื่น


ไฟล์แนบ
.pdf   1561_2553.pdf (ขนาด: 386.99 KB / ดาวน์โหลด: 3,945)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม