การพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการสวนยางในแหล่งปลูกยางใหม่
#1
การพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการสวนยางในแหล่งปลูกยางใหม่
พเยาว์ ร่มรื่นสุขารมย์, นุชนารถ กังพิศดาร, นภาวรรณ เลขะวิพัฒน์  และอารมณ์ โรจน์สุจิตร
ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา สถาบันวิจัยยาง ศูนย์วิจัยยางหนองคาย และศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี สถาบันวิจัยยาง 

          การปลูกสร้างสวนยางให้ต้นยางเจริญเติบโตดีสามารถเปิดกรีดได้เร็วและให้ผลผลิตดี นอกจากพื้นที่ปลูกและพันธุ์ยางแล้ว การดูแลรักษาสวนยางยังเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง การเร่งให้ต้นยางเจริญเติบโตเร็วโดยการจัดการธาตุอาหารให้เพียงพอสำหรับต้นยางสามารถลดระยะเวลาก่อนเปิดกรีดได้ ซึ่งผลการทดลองเปรียบเทียบการใช้ปุ๋ยที่ได้จากงานวิจัยกับการใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำตามชนิดของเนื้อดิน และเขตปลูกยางกับต้นยางพันธุ์สถาบันวิจัยยาง 251 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตปานกลางและให้ผลผลิตสูงในแปลงเกษตรกรระหว่างปี พ.ศ.2543–2550 พบว่า การใส่ปุ๋ยที่ได้จากงานวิจัยสามารถลดระยะเวลาก่อนเปิดกรีดของต้นยางได้ไม่น้อยกว่า 1 ปี ทั้งในพื้นที่ปลูกยางเดิมและพื้นที่ปลูกยางใหม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่และการจัดการสวนยางของเกษตรกรด้วย และพบว่าในดินร่วนทรายเขตปลูกยางใหม่ ต้นยางต้องการปริมาณธาตุอาหารสูงกว่าปริมาณธาตุอาหารที่แนะนำ นอกจากนี้การเกิดอาการเปลือกแห้งของยางพาราเป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตยางลดลง การสำรวจความรุนแรงของการเกิดอาการเปลือกแห้งในแหล่งปลูกยางใหม่ระหว่างปี พ.ศ.2549–2551 พบว่า ในภาคตะวันออกมีต้นยางแสดงอาการเปลือกแห้งเฉลี่ยร้อยละ 8.75 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลี่ยร้อยละ 7.73 และภาคเหนือซึ่งยังมีสวนยางเปิดกรีดน้อย พบอาการเปลือกแห้งเฉลี่ยเพียงร้อยละ 1.48 ส่วนในพื้นที่ปลูกยางเดิมภาคใต้ตอนบน มีต้นยางแสดงอาการเปลือกแห้งเฉลี่ยร้อยละ 15 ต้นยางที่แสดงอาการเปลือกแห้งพบทั้งกระจายอยู่ทั่วไปในสวน และเกิดติดต่อเป็นแถวหรืออยู่ในกลุ่มเดียวกัน โดยต้นยางจะแสดงอาการเปลือกแห้งเพิ่มขึ้นตามอายุ และมีความแตกต่างกันตามพันธุ์ยาง ระบบกรีดและการใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง บริเวณพื้นที่ปลูกที่มีการอัดตัวของดินแน่นมักพบต้นยางแสดงอาการเปลือกแห้งเป็นกลุ่ม นอกจากนี้ยังพบว่า สารทาหน้ากรีดที่ไม่ระบุสาระสำคัญในผลิตภัณฑ์ที่เกษตรกรใช้ในสวนยางส่วนใหญ่มีสารเคมีเร่งน้ำยางเป็นส่วนประกอบอยู่ระหว่าง 0.43–4.36% W/V ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการเปลือกแห้งในสวนยาง การศึกษาแนวทางในการจัดการสวนยางเพื่อลดความเสียหายจากอาการเปลือกแห้ง โดยใช้น้ำหมักที่ผลิตโดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 สารอาหารพืชอะมิโน+โพลีแซคคาไรด์ สารแมกนีเซียมคีเลท และไคโตซาน พ่นที่หน้ากรีดของต้นยางที่แสดงอาการเปลือกแห้งทุก 7 วัน ไม่พบว่ามีวิธีการใดให้ผลผลิตแตกต่างจากวิธีการควบคุมที่ใช้น้ำ ส่วนการทดลองใช้สารทาหน้ากรีดที่มีส่วนผสมของสารเคมีเร่งน้ำยางกับต้นยางที่แสดงอาการเปลือกแห้งทำให้ต้นเปลือกแห้งให้ผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นได้ในระยะ 2–3 เดือนแรก หลังจากนั้นผลผลิตจะเริ่มลดลงและกลับมาแสดงอาการเปลือกแห้งอีก การขูดเปลือกที่แตกล่อนและหยุดกรีดต้นยางที่แสดงอาการเปลือกแห้งรุนแรงเป็นเวลา 1 ปี แล้วเปิดกรีดใหม่พบว่า มีต้นยางร้อยละ 43 สามารถให้ผลผลิตน้ำยางต่อไปได้


ไฟล์แนบ
.pdf   1510_2552.pdf (ขนาด: 449.26 KB / ดาวน์โหลด: 1,547)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม