การวิจัยและพัฒนาเครื่องลดความชื้นกล้วยไม้แบบอุโมงค์ลม
#1
การวิจัยและพัฒนาเครื่องลดความชื้นกล้วยไม้แบบอุโมงค์ลม
พุทธินันทร์ จารุวัฒน์, ชูศักดิ์ ชวประดิษฐ์, จงวัฒนา พุ่มหิรัญ, คุรุวรรณ ภามาตย์, ยงยุทธ คงซ่าน, สากล วีริยานันท์ และวัชรี วิทยวรรณกุล
ศูนย์วิจัยเกษตตรวิศวกรรมจันทบุรี, สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม, สถาบันวิจัยพืชสวน และสำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร

          วิจัยและพัฒนาเครื่องลดความชื้นกล้วยไม้แบบอุโมงค์ลมทดแทนการใช้พัดลม ช่วยลดระยะเวลาในการลดความชื้นกล้วยไม้ที่ตัดดอกจากสวนเพื่อทำการบรรจุส่งออกสู่ต่างประเทศโดยเฉพาะในฤดูฝนซึ่งดอกกล้วยไม้มีความชื้นสูง เครื่องต้นแบบประกอบด้วยห้องลดความชื้นมีขนาดกว้าง 1.2 เมตร ยาว 7.5 เมตร ชุดพัดลมเป็นชนิดไหลตัดแกนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เซนติเมตร ยาว 1.2 เมตร ขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 2 แรงม้า ความเร็วรอบพัดลม 733 รอบต่อนาที ชุดลำเลียงกล้วยไม้เข้าห้องลดความชื้นถูกขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 0.5 แรงม้า และเกียร์ทดอัตราทด 1:60 ความเร็วในการลำเลียง 1 เมตรต่อนาที เครื่องต้นแบบสามารถควบคุมอุณหภูมิลมผ่านตู้ควบคุมซึ่งติดตั้งบริเวณด้านข้างของเครื่องอุปกรณ์ให้ความร้อนประกอบด้วย หัวพ่นแก๊สและหัวล่อแก๊ส มีโซลินอยด์วาล์วทำหน้าที่เปิด-ปิดแก๊ส ใช้แก๊สหุงต้มเป็นเชื้อเพลิง ผลการทดสอบพบว่า เครื่องต้นแบบสามารถลดระยะเวลาการลดความชื้นกล้วยไม้ได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการใช้พัดลมและมีความสามารถในการลดความชื้นกล้วยไม้ได้มากกว่า โดยคุณภาพของดอกกล้วยไม้มีสภาพความสดไม่แตกต่างกัน มีอายุการปักแจกันได้นาน 12-14 วัน ผลการวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์วิศวกรรมพบว่า การลดความชื้นกล้วยไม้ด้วยการใช้เครื่องลดความชื้นกล้วยไม้แบบอุโมงค์ลมต้นแบบมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการใช้พัดลม คือ 21.12 บาทต่อช่อ ที่ราคารับซื้อกล้วยไม้ 10 บาทต่อช่อ เครื่องต้นแบบมีจุดคุ้มทุนเมื่อทำการลดความชื้นกล้วยไม้ 663,552 ช่อต่อปี และระยะเวลาคืนทุนประมาณ 0.13 ปี ที่ราคากล้วยไม้สู่ตลาดต่างประเทศ 22 บาทต่อช่อ


ไฟล์แนบ
.pdf   1802 (1)_2553.pdf (ขนาด: 1.76 MB / ดาวน์โหลด: 567)
.pdf   1802 (2)_2553.pdf (ขนาด: 571.28 KB / ดาวน์โหลด: 438)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 5 ผู้เยี่ยมชม