ประสิทธิภาพของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเห็ดเรืองแสง Neonothopanus nambi ต่อไส้เดือนฝอย
#1
ประสิทธิภาพของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเห็ดเรืองแสง Neonothopanus nambi ต่อไส้เดือนฝอยรากปม (Meloidogyne incognita) ในพริก
สุรีย์พร บัวอาจ, นุชนารถ ตั้งจิตสมคิด, บูรณี พั่ววงษ์แพทย์ และวิลาวัณย์ ใคร่ครวญ
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยและพัฒนาอารักขาพืช และกลุ่มบริการวิชาการ สถาบันวิจัยพืชสวน

          นำสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเห็ดเรืองแสง Neonothopanus nambi ไปใช้ในการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม ด้วยวิธีการประยุกต์ใช้ในรูปแบบของก้อนเชื้อในการควบคุมโรคพืชโดยชีววิธี โดยนำก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสงรองก้นหลุมก่อนปลูกพริก ในอัตรา 10, 20, 30, 40 และ 50 กรัมต่อกระถาง จากการวิเคราะห์เปอร์เซ็นต์การเกิดปมที่รากพริกครบ 45 วัน หลังปลูกเชื้อด้วยไส้เดือนฝอยรากปม M. incognita จำนวน 2,000 ไข่/กระถาง พบว่าทุกอัตราการใช้ก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสง สามารถควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมได้ดี โดยเฉพาะที่อัตรา 10 กรัมต่อกระถาง สามารถควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมได้ดีที่สุด ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การเกิดรากปมเพียง 12.40 เปอร์เซ็นต์ และอัตราการใช้ก้อนเชื้อเห็ดรองลงมาที่อัตรา 20, 40, 30 และ 50 กรัมต่อกระถาง ให้ผลไม่แตกต่างกันทางสถิติคือ มีเปอร์เซ็นต์การเกิดรากปม 23.20, 25.40, 30.00 และ 30.40 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ซึ่งทุกอัตราการใช้ก้อนจากเชื้อเห็ดเรืองแสงมีความแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีที่มีไส้เดือนฝอยรากปมเพียงอย่างเดียว หรือการใช้สารเคมี carbofuran® ที่พบการเกิดปมสูงถึง 75.60 และ 60 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

         จากนั้นทดสอบอัตราการใช้ก้อนเชื้อจากเห็ดเรืองแสงในอัตราการที่ละเอียดขึ้นเพื่อได้ข้อมูลอัตราการใช้ก้อนเชื้อจากเห็ดเรืองแสงที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุดพบว่า ทุกอัตราการใช้ก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสง 5, 10, 15 และ 20 กรัมต่อต้น สามารถควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมได้ดี โดยเฉพาะที่อัตรา 10 กรัมต่อกระถาง สามารถควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมได้ดีที่สุด ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การเกิดรากปมเพียง 11.83 เปอร์เซ็นต์ รองลงคือ อัตรา 15, 20 และ 5 กรัมต่อกระถาง ตามลำดับ มีเปอร์เซ็นต์การเกิดรากปม 12.25, 15.08 และ 23.25 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ มีความแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีที่มีไส้เดือนฝอยรากปมเพียงอย่างเดียวที่พบการเกิดปมสูงถึง 72.25 เปอร์เซ็นต์ และผลการเจริญเติบโตของพืชให้ผลสอดคล้องกัน ทั้งความสูงและน้ำหนักต้นสด พบว่าความสูงของพริกที่อัตรา 10 กรัมต่อกระถาง มีผลทำใหพริกสูงมากที่สุด คือ 71.55 เซนติเมตร รองลงมาคือ อัตราที่ 15, 20 และ 5 กรัมต่อกระถาง โดยมีความสูงเท่ากับ 63.63, 56.71 และ 49.71 ซม. ตามลำดับ ซึ่งมีความแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีที่มีไส้เดือนฝอยรากปมเพียงอย่างเดียว และกรรมวิธีที่ไม่มีการปลูกเชื้อใดๆ ที่มีความสูงเพียง 43.36 และ 49.75 ซม. ตามลำดับ ส่วนผลของน้ำหนักต้นสดพบว่า ที่อัตรา 10 กรัมต่อกระถาง ทำใหพริกมีน้ำหนักต้นสดมากที่สุด คือ 113.48 กรัม รองลงมาคือ อัตรา 15, 20 และ 5 กรัมต่อกระถาง โดยมีน้ำหนักสด 102.28, 63.98 และ 49.29 กรัม ตามลำดับ โดยมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ เมื่อเทียบกับพริกที่มีไส้เดือนฝอยรากปมเพียงอย่างเดียว และกรรมวิธีที่ไม่มีการปลูกเชื้อใดๆ ซึ่งให้น้ำหนักต้นสด 35.63 และ 33.48 กรัม ตามลำดับ


ไฟล์แนบ
.pdf   2322 (1)_2555.pdf (ขนาด: 1.75 MB / ดาวน์โหลด: 676)
.pdf   2322 (2)_2555.pdf (ขนาด: 1.17 MB / ดาวน์โหลด: 646)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม