การพัฒนาการผลิตปาล์มน้ำมันในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง
#1
การพัฒนาการผลิตปาล์มน้ำมันในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง
สุรกิตติ ศรีกุล, ไพบูรณ์ เปรียบยิ่ง, ฐปนีย์ ทองบุญ, สุธีรา ถาวรรัตน์ และธีรชาต วิชิตชลชัย
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช

          พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาสลับซับซ้อนในการทำการเกษตร เช่น การขาดแคลนน้ำจืดและมีการรุกตัวของน้ำทะเลเข้าไปในแม่น้ำปากพนังในฤดูแล้งทำให้เกิดสภาพน้ำเค็มถึงปีละ 5-6 เดือน รวมทั้งการเกิดอุทกภัยในฤดูฝนทำให้เกษตรกรประกอบอาชีพเกษตรกรรมไม่ได้

          สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 กรมวิชาการเกษตรเริ่มเข้าดำเนินงานตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา โดยการนำผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรเข้าไปทดสอบ ปรับใช้ และขยายผลในพื้นที่เกษตรกร ซึ่งมีการสำรวจ และวิเคราะห์พื้นที่ และสรุปกิจกรรมดำเนินการเพื่อพัฒนาพื้นที่ โดยมีการพัฒนางานวิจัยดังนี้
1. การทดสอบความเป็นไปได้ในการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง
2. การปรับเปลี่ยนอาชีพจากการเลี้ยงกุ้งในเขตน้ำจืดมาปลูกปาล์มน้ำมัน
3. ทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการปรับปรุงสภาพดินนากุ้งร้างให้เหมาะสมต่อการปลูกปาล์ม
4. การฝึกอบรมหลักสูตรเทคโนโลยี การจัดการสวนปาล์มน้ำมัน และการจัดทำแปลงเรียนรู้ต้นแบบการผลิตปาล์มน้ำมัน

          การทดสอบความเป็นไปได้ในการปลูกปาล์มน้ำมันในแปลงเกษตรกร 6 แปลง 156 ไร่ พบว่า ปาล์มน้ำมันสามารถให้ผลผลิตเฉลี่ยทั้ง 156 ไร่ อายุ 6-13 ปี (8 ปี) 3.25 ตันต่อไร่ต่อปี และในปี 2547 ได้ขยายผลไปสู่โครงการปรับเปลี่ยนอาชีพจากการเลี้ยงกุ้งในเขตน้ำจืดมาปลูกปาล์มน้ำมันพื้นที่กว่า 8,000 ไร่

          การทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการปรับปรุงสภาพดินนากุ้งร้างให้เหมาะสมต่อการปลูกปาล์มน้ำมัน 9 ราย 120 ไร่ พบว่าการปรับปรุงบำรุงดินนากุ้งร้างโดยการเพิ่มอินทรียวัตถุ และการจัดการสวนที่ถูกต้องทำให้ปาล์มน้ำมันอายุ 6 ปี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 3.40 ตันต่อไร่ต่อปี

          การดำเนินการฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีหลักสูตรเทคโนโลยีการจัดการสวนเพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการสวนปาล์มน้ำมันซึ่งมีเกษตรกรเข้ารับการฝึกอบรมประมาณ 500 รายต่อปี รวมทั้งยังได้มีการจัดทำแปลงเรียนรู้ และแปลงต้นแบบการผลิตปาล์มน้ำมันที่ถูกต้องให้เกษตรกรในพื้นที่ จำนวน 11 แปลง กระจายครอบคลุมพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่

          จากผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง (15 ปี) ส่งผลให้เกษตรกรมีการปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นจากปี 2539 ที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพียง 200 ไร่ ขยายพื้นที่ปลูกไปเป็น 213,000 ไร่ ในปี 2555 ซึ่งทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตปาล์มน้ำมันเข้าสู่พื้นที่อย่างน้อยประมาณ 2,150 ล้านบาทต่อปี และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีอาชีพทำการเกษตรกรรมอย่างมั่นคงและยั่งยืน


ไฟล์แนบ
.pdf   2274_2555.pdf (ขนาด: 443.61 KB / ดาวน์โหลด: 638)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม