ศึกษาสารพิษตกค้างในพืชผัก พืชที่ปลูกในน้ำ พืชหัวใต้ดิน พืชสมุนไพร และพืชตระกูลกะหล่ำ
#1
ศึกษาสารพิษตกค้างในพืชผัก พืชที่ปลูกในน้ำ พืชหัวใต้ดิน พืชสมุนไพร และพืชตระกูลกะหล่ำ
บุญทวีศักดิ์ บุญทวี, จินตนา ภู่มงกุฎชัย, สุพัตรี หนูสังข์, ศศิณิฎา คงแช่มดี และประพันธ์ เคนท้าว
กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          สุ่มเก็บตัวอย่าง พืชที่ปลูกในน้ำ พืชหัวใต้ดิน พืชสมุนไพร และพืชตระกูลกะหล่ำ จากแหล่งจำหน่ายในปี 2560 ถึงปี 2564 ในพื้นที่ภาคกลาง จำนวนรวม 701 ตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างจำนวน 225 ชนิด เป็นพืชที่ปลูกในน้ำ ได้แก่ ผักบุ้ง ผักกะเฉด สายบัว ไหลบัวหือรากบัว จำนวน 204 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างจำนวน 50 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 24.5 ปริมาณที่พบ 0.01 - 2.92 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พืชหัวใต้ดิน ได้แก่ หอมแดง กระเทียม หอมหัวใหญ่ หัวไชเท้า ข่า ขิง กระชาย เผือก ขมิ้นขาว ขมิ้นเหลือง มันเทศ จำนวน 210 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้าง 33 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 15.7 ปริมาณที่พบ 0.01 - 0.46 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปริมาณที่พบเกินค่า MRL รวม 12 ครั้ง พืชสมุนไพร ได้แก่ กะเพรา โหระพา ผักชีลาว ยี่หร่า สะระแหน่ ผักชี ผักชีฝรั่ง ตะไคร้ ผักแขยง ชะพลู ผักแพว แมงลัก จำนวน 202 ตัวอย่าง ตรวจพบสารพิษตกค้าง 109 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 53.9 ปริมาณที่พบ 0.01 - 50.30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปริมาณที่พบเกินค่า MRL รวม 68 ครั้ง สาเหตุของการพบปริมาณสารพิษตกค้างเกินค่า MRL ในพืชกลุ่มนี้บ่อยครั้งอาจเกิดจากเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อน PHI ที่กำหนดในฉลาก พืชกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ใช้ในการปรุงอาหาร และใช้ปริมาณน้อยโอกาสที่จะบริโภคเกินอัตราจึงน้อย พืชตระกูลกะหล่ำ ได้แก่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อคโคลี่ ผักกาดเขียวปลี จำนวน 85 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้าง 9 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 10.6 ปริมาณที่พบ 0.01 - 0.11 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปริมาณที่พบเกินค่า MRL 1 ครั้ง สารพิษตกค้างที่ตรวจพบในตัวอย่างบางชนิด ไม่ได้มีการกำหนดค่า MRL ทั้ง Thai, Codex, EU และ Japan และสารพิษตกค้างบางชนิดพบในปริมาณที่สูงและเกินค่า MRL แต่เมื่อทำการประเมินความเสี่ยง พบว่าค่า HQ (Hazard quotient) มีค่าน้อยกว่า 1 นั้นหมายความว่า สารพิษตกค้างที่ตรวจพบ ยังคงมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งในการล้างทำความสะอาดผักและการใช้ความร้อนเพื่อประกอบอาหาร ยังสามารถช่วยลดปริมาณสารพิษตกค้างลงได้อีกด้วย ข้อมูลที่ได้ในการสุ่มตรวจตัวอย่างพืชผักในครั้งนี้ ทำให้ทราบว่ายังคงมีสารพิษตกค้างในพืชบางชนิด เกินปริมาณค่า MRL ดังนั้นทั้งภาครัฐและเอกชนต้องให้ความสำคัญ เรื่องการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ถูกต้องของเกษตรกร โดยเฉพาะกรมวิชาการเกษตรควรเพิ่มความเข้มงวด ต่อการรับรองการผลิตพืช (GAP) เพื่อลดโอกาสที่จะพบปริมาณสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะพืชที่ผลิตเพื่อการส่งออก ประเทศผู้ซื้อเช่นกลุ่มสหภาพยุโรปมีการกำหนดค่า MRL ไว้ต่ำมาก


ไฟล์แนบ
.pdf   39. ศึกษาสารพิษตกค้างในพืชผัก พืชที่ปลูกในน้ำ พืชหัวใต้ดิน พืชสมุนไพร และพืชตระกูลกะหล่ำ.pdf (ขนาด: 323.34 KB / ดาวน์โหลด: 317)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม