11-18-2015, 02:26 PM
การเพิ่มคุณภาพผลผลิตกล้วยไข่เพื่อการส่งออกแบบบูรณาการ
ประนอม ใจอ้าย, สุทธินี เจริญคิด, พรรณพิมล สุริยะพรหมชัย, นิภารัตน์ จันทร์ภิรมย์, นันทรัตน์ ศุภกำเนิด, สุภัทรา เลิศวัฒนาเกียรติ และสากล มีสุข
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ และสถาบันวิจัยพืชสวน
ประนอม ใจอ้าย, สุทธินี เจริญคิด, พรรณพิมล สุริยะพรหมชัย, นิภารัตน์ จันทร์ภิรมย์, นันทรัตน์ ศุภกำเนิด, สุภัทรา เลิศวัฒนาเกียรติ และสากล มีสุข
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ และสถาบันวิจัยพืชสวน
การเพิ่มคุณภาพผลผลิตกล้วยไข่เพื่อการส่งออกแบบบูรณาการ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเทคโนโลยีการผลิตกล้วยไข่ที่ให้ผลผลิตและคุณภาพสูง โดยมีพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ หาเทคนิคการขยายพันธุ์กล้วยไข่เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนต้นพันธุ์ในพื้นที่ปลูกใหม่ และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตสู่เกษตรกร การถ่ายทอดองค์ความรู้สู่กลุ่มเป้าหมายเพื่อผลิตกล้วยไข่ให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดการดำเนินงานประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ เปรียบเทียบการเจริญเติบโตและผลผลิตพันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 และกำแพงเพชรซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่เหมาะสมกับพื้นที่ในจังหวัดแพร่ การเพิ่มคุณภาพผลผลิตกล้วยไข่เพื่อการส่งออก เปรียบเทียบผลผลิตของกล้วยไข่ที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการผ่าหน่อกับหน่อขุดจากต้นแม่ และขยายพื้นที่ปลูกกล้วยไข่เพื่อรองรับความต้องการของตลาดพบว่า การผลิตกล้วยไข่ในพื้นที่จังหวัดแพร่สามารถปลูกได้ทั้ง 2 พันธุ์ คือ พันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 และพันธุ์กำแพงเพชร ซึ่งมีการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตไม่แตกต่างกัน ปริมาณการให้ปุ๋ยและการไว้หน่อที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อน้ำหนักผลต่อหวีและจำนวนผลต่อเครือไม่แตกต่างกัน ดังนั้นการให้ปุ๋ยที่เหมาะสมคือให้ตามผลวิเคราะห์ดินในอัตราที่แนะนำ และการไว้จำนวนหน่อต่อต้นที่เหมาะสม คือ ไว้ 1-2 หน่อ เมื่ออายุ 6 เดือน ส่วนผลผลิตของกล้วยไข่ที่ขยายพันธุ์การผ่าหน่อ มีน้ำหนักเครือน้อยกว่าหน่อที่ขุดแยกจากต้นแม่ไปปลูก แต่จำนวนหวีและจำนวนผลไม่แตกต่างกันพบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 52 ของผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายได้ในราคา 10-35 บาทต่อหวี ถึงแม้ผลผลิตยังมีปริมาณไม่เพียงพอกับการส่งออกแต่ก็ได้ผลตอบรับจากเกษตรกรเพิ่มขึ้น ในปี 2553-2554 สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่รับเทคโนโลยีการผลิตกล้วยไข่ไปขยายผลต่อไป