การสังเคราะห์เทคโนโลยีการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธีในหน่อไม้ฝรั่ง
#1
การสังเคราะห์เทคโนโลยีการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธีในหน่อไม้ฝรั่ง
สมชัย สุวงศ์ศักดิ์ศรี, ภัทรพร สรรพนุเคราะห์, สาทิพย์ มาลี, รจนา ไวยเจริญ, นันทนัช พินศรี, อิศเรส เทียนทัด, สุชลวัจน์ ว่องไวลิขิต, สมศักดิ์ ศิริพลตั้งมั่น และเสาวนิตย์ โพธิ์พูนศักดิ์
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การสังเคราะห์เทคโนโลยีการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธีในหน่อไม้ฝรั่ง โดยสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรที่จังหวัดนครปฐมและจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 50 ตัวอย่าง พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 52 เพศชายร้อยละ 48 ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 51 ปีขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ 34 รองลงมาเป็นผู้มีอายุ 41 - 50, 31 - 40 และน้อยกว่า 30 ปี ตามลำดับ คิดเป็นร้อยละ 32, 22 และ 12 ตามลำดับ มีสมาชิกในครอบครัวเฉลี่ย 4.6 คน โดยใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก รายได้หลักส่วนใหญ่ได้จากหน่อไม้ฝรั่ง เกษตรกรมีความเข้าใจการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูหน่อไม้ฝรั่งโดยชีววิธีในระดับปานกลาง เคยนำวิธีป้องป้องกันกำจัดแมลงศัตรูหน่อไม้ฝรั่งโดยชีววิธีมาใช้ในแปลงของตนเองในระดับปานกลาง การได้รับความรู้เกี่ยวกับการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูหน่อไม้ฝรั่งโดยชีววิธีจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในระดับปานกลางถึงมาก และคิดว่าการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูหน่อไม้ฝรั่งโดยชีววิธีจะช่วยเพิ่มราคาผลผลิตให้ดีขึ้นในระดับปานกลาง การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูหน่อไม้ฝรั่งโดยชีววิธีจะช่วยในการลดต้นทุนการผลิตในระดับปานกลางถึงมาก การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูหน่อไม้ฝรั่งโดยชีววิธีมีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงศัตรูพืชอย่างยั่งยืนในระดับปานกลางถึงมากที่สุด ผลผลิตจากการปลูกหน่อไม้ฝรั่งที่ใช้วิธีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชชีววิธีดีกว่าวิธีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชอย่างเดียวในระดับปานกลางถึงมากที่สุด โครงการการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูหน่อไม้ฝรั่งโดยชีววิธีสอดคล้องตามความต้องการและความคาดหวังของเกษตรกรในระดับปานกลาง โดยสรุปเกษตรกรมีความพึงพอใจมากน้อยเพียงใดในการดำเนินงานตามโครงการการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูหน่อไม้ฝรั่งโดยชีววิธีของภาครัฐในระดับปานกลาง

          การศึกษาการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูหน่อไม้ฝรั่งในแปลงเกษตรกร ที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐมจำนวน 2 แปลง และที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 3 แปลง ระหว่างเดือนตุลาคม 2558 - กันยายน 2559 โดยในแต่ละแปลงแบ่งเป็น 2 ส่วนเท่าๆ กัน แปลงละ 1 ไร่ ส่วนแรกเกษตรกรเป็นผู้ดำเนินการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูหน่อไม้ฝรั่งด้วยวิธีที่ตนเอง ส่วนที่เหลือดำเนินการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูหน่อไม้ฝรั่งโดยชีววิธีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ผลการศึกษาพบว่าทั้ง 2 แปลงมีการระบาดของแมลงไม่แตกต่างกัน โดยพบการระบาดของเพลี้ยไฟเกินระดับเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาพบการทำลายของหนอนกระทู้หอม หนอนบุ้ง ตามลำดับ ในแปลงเกษตรกรมีการใช้สารฆ่าแมลง 3 ชนิด จำนวน 10 - 14 ครั้ง อัตราการพ่นสาร 80 - 120 ลิตรต่อไร่ ส่วนแปลงชีววิธีมีการใช้น้ำสบู่เพื่อกำจัดเพลี้ยไฟ ปล่อยแตนเบียนไข่ Trichogramma sp. และมวนพิฆาต โดยพ่นน้ำสบู่เฉลี่ย 12 ครั้งตลอดฤดู และปล่อยแตนเบียไข่และมวนพิฆาต 4 ครั้งตลอดฤดู พบว่ามีประสิทธิภาพในการควบคุมแมลงศัตรูพืชไม่แตกต่างจากวิธีที่เกษตรกรปฏิบัติ

          การศึกษาการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูหน่อไม้ฝรั่งในแปลงเกษตรกร ที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐมจำนวน 2 แปลง และที่อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 3 แปลง ระหว่างเดือนตุลาคม 2559 ถึงเดือนกันยายน 2560 โดยในแต่ละแปลงแบ่งเป็น 2 ส่วนเท่าๆ กัน แปลงละ 1 ไร่ ส่วนแรกเกษตรกรเป็นผู้ดำเนินการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูหน่อไม้ฝรั่งด้วยวิธีที่ตนเอง ส่วนที่เหลือดำเนินการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูหน่อไม้ฝรั่งโดยชีววิธีของกรมวิชาการเกษตร ผลการศึกษานี้ ในแปลงชีววิธีมีการใช้น้ำสบู่กำจัดแมลงปากดูด ได้แก่ เพลี้ยไฟและแมลงหวี่ขาว เนื่องจากไม่สามารถหาชีวภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการกำจัดเพลี้ยไฟ ส่วนหนอนผีเสื้อชนิดต่างๆใช้แบคทีเรียบีทีมป้องกันกำจัด รวมการใช้ปัจจัยกำจัดแมลงศัตรูพืชตลอดฤดูรวม 12 ครั้ง (11 สัปดาห์) ส่วนแปลงที่เกษตรกรดูแลด้วยตนเองมีการใช้สาร Abmectin, Fipronil กำจัดเพลี้ยไฟ และใช้ Chlorfluazuron กับน้ำสกัดสมุนไพรที่ผลิตในชุมชนกำจัดหนอนผีเสื้อ รวม 15 ครั้งตลอดฤดู ปริมาณการระบาดของแมลงทั้งสองจังหวัดมีความแตกต่างกัน โดยแปลงทดสอบในจังหวัดกาญจนบุรีมีการระบาดของแมลงปากดูด ได้แก่ เพลี้ยไฟและแมลงหวี่ขาว อย่างรุนแรง ซึ่งในแปลงชีววิธีพบปริมาณเพลี้ยไฟและแมลงหวี่ขาวเฉลี่ยตลอดฤดูเท่ากับ 5.60 และ 7.86 ตัวต่อกอ ตามลำดับ ไม่แตกต่างจากแปลงที่เกษตรกรดูแลเองที่พบมีปริมาณเพลี้ยไฟและแมลงหวี่ขาวเฉลี่ยตลอดฤดูเท่ากับ 5.12 และ 5.37 ตัวต่อกอ ตามลำดับ ผลผลิตที่ได้ค่อนข้างต่ำ โดยแปลงชีววิธีได้ผลผลิต เฉลี่ย 10.3 กก.ต่อไร่ ส่วนแปลงเกษตรกรได้ผลผลิตเฉลี่ย 15.1 กก.ต่อไร่ เนื่องจากเกษตรกรขาดการดูแลและไม่ป้องกันกำจัดตามระยะเวลาที่กำหนด ทำให้สภาพการระบาดรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมระดับการระบาดของแมลงให้อยู่ในปริมาณที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายได้ ส่วนแปลงในอำเภอกำแพงแสน จ.นครปฐม มีการระบาดของแมลงปากดูด ได้แก่ เพลี้ยไฟและแมลงหวี่ขาวอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน โดยในแปลงชีววิธีพบปริมาณเพลี้ยไฟและแมลงหวี่ขาวเฉลี่ยตลอดฤดูเท่ากับ 3.32 และ 0.04 ตัวต่อกอ ตามลำดับ แตกต่างจากแปลงที่เกษตรกรดูแลด้วยตนเอง พบว่ามีปริมาณเพลี้ยไฟและแมลงหวี่ขาวเฉลี่ยตลอดฤดูสูงกว่าเท่ากับ 5.83 และ 0.06 ตัวต่อกอ ตามลำดับ ผลผลิตที่ได้สูงกว่าแปลงในจังหวัดกาญจนบุรีอย่างชัดเจนโดยแปลงชีววิธีได้ผลผลิตเฉลี่ย 188.2 กก.ต่อไร่ ส่วนแปลงเกษตรกรได้ผลผลิตเฉลี่ย 149.0 กก.ต่อไร่


ไฟล์แนบ
.pdf   143_2560.pdf (ขนาด: 884.12 KB / ดาวน์โหลด: 602)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม