01-17-2019, 10:10 AM
การใช้ก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสง Neonothopanus nambi ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม Meloidogyne incognita Chitwood ในพริก
สุรีย์พร บัวอาจ, บุษราคัม อุดมศักดิ์, ไตรเดช ข่ายทอง, รุ่งนภา คงสุวรรณ์ และพเยาว์ พรหมพันธุ์ใจ
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4
สุรีย์พร บัวอาจ, บุษราคัม อุดมศักดิ์, ไตรเดช ข่ายทอง, รุ่งนภา คงสุวรรณ์ และพเยาว์ พรหมพันธุ์ใจ
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4
โรครากปมที่มีสาเหตุจากไส้เดือนฝอยรากปม Meloidogyne incognita Chitwood เป็นโรคที่มีความสำคัญทำความเสียหายกับพืชในวงศ์ Solanaceae เป็นอย่างมากโดยเฉพาะในพริก ปัญหาดังกล่าวยังไม่มีวิธีแก้ไขรวมทั้งสารเคมีที่ใช้ในการควบคุม ดังนั้นการควบคุมโรคพืชโดยชีววิธีจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ การวิจัยในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อได้วิธีการที่เหมาะสมในการนำเห็ดเรืองแสง Neonothopanus nambi ไปใช้ประโยชน์ในการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมในแปลงปลูกพริกของเกษตรกร โดยดำเนินการทดลองระหว่างเดือนตุลาคม 2559 – กันยายน 2560 ณ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยวางแผนการทดลอง RCB 4 กรรมวิธี 5 ซ้ำ เก็บเกี่ยวพริกที่ 90 วัน พบว่ากรรมวิธีใช้ก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสง จำนวน 10 กรัมต่อต้น รองก้นหลุมก่อนปลูก และกรรมวิธีปลูกปอเทืองร่วมกับการใช้ก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสง 10 กรัมต่อต้น รองก้นหลุมก่อนปลูก สามารถลดจำนวนการเกิดปมที่รากได้ดีที่สุด คือ มีเปอร์เซ็นต์การเกิดปมเพียง 2.36 และ 2.45 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติกับกรรมวิธีปลูกปอเทือง และกรรมวิธีเปรียบเทียบซึ่งไม่ได้ใช้ก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสงโดยพบการเกิดปมสูงถึง 57.50 และ 88 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนค่าเฉลี่ยความสูงของพริกพบว่า กรรมวิธีใช้ก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสง จำนวน 10 กรัมต่อต้น รองก้นหลุมก่อนปลูก ส่งผลให้พริกมีความสูงมากที่สุด คือ 84.25 เซนติเมตร ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติกับกรรมวิธีปลูกปอเทือง และกรรมวิธีเปรียบเทียบ โดยพบมีความสูงเพียง 63.99 และ 59.55 เซนติเมตร ตามลำดับ และข้อมูลผลผลิตพริก (กิโลกรัมต่อต้น) โดยเก็บผลผลิตพริกสดพบว่า กรรมวิธีใช้ก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสง จำนวน 10 กรัมต่อต้น รองก้นหลุมก่อนปลูก ส่งผลให้พริกมีผลผลิตผลสดมากที่สุด (4.70 กิโลกรัม) โดยไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ (P<0.01) กับกรรมวิธีปลูกปอเทืองร่วมกับการใช้ก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสง (4.12 กิโลกรัม) แต่แตกต่างกันทางสถิติ (P<0.01) กับกรรมวิธีเปรียบเทียบ (2.66 กิโลกรัม)