03-07-2017, 03:02 PM
การเปรียบเทียบพันธุ์พลูคาว
มณทิรา ภูติวรนาถ, สุพัฒนกิจ โพธิ์สว่าง, แสงมณี ชิงดวง, ประนอม ใจอ้าย, วิภาดา แสงสร้อย และสากล มีสุข
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่, ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยพืชสวน
มณทิรา ภูติวรนาถ, สุพัฒนกิจ โพธิ์สว่าง, แสงมณี ชิงดวง, ประนอม ใจอ้าย, วิภาดา แสงสร้อย และสากล มีสุข
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่, ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยพืชสวน
จากการทดลองเปรียบเทียบพันธุ์พลูคาว ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ และศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ในปี 2556 และ 2557 โดยวางแผนการทดลองแบบ RCB มีพันธุ์พลูคาว 9 พันธุ์ (กรรมวิธี) 3 ซ้ำ ได้แก่ พันธุ์ใบแดงเชียงราย พันธุ์ใบแดงพิษณุโลก พันธุ์ใบแดงเชียงใหม่ พันธุ์ใบเขียวลำปาง พันธุ์ใบเขียวแพร่ พันธุ์ใบเขียวสุโขทัย พันธุ์ก้านม่วงแพร่ 1 พันธุ์ก้านม่วงแพร่ 2 และพันธุ์ก้านม่วงแพร่ 3 ปลูกในแปลงขนาด 1 x 3 ตารางเมตร ใช้ระยะปลูก 15 x 20 เซนติเมตร ปฏิบัติดูแลรักษาตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร เก็บเกี่ยวผลผลิตในพื้นที่ 1 ตารางเมตร เมื่อพลูคาวอายุ 6 เดือนหลังปลูก โดยตัดสูงจากพื้น 1 นิ้ว ล้างให้สะอาด นำไปอบในตู้อบที่อุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส นาน 72 ชั่วโมง และส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญ Rutin และ Quercitrin ที่ห้องปฏิบัติการกลาง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยงานทดลองที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ ในปี 2556 พบว่า พลูคาวใบแดงและพลูคาวใบเขียว มีความสูงไม่แตกต่างกันทางสถิติ โดยพันธุ์ใบเขียวแพร่มีความสูง และ น้ำหนักสดสูงสุด คือ 37.39 เซนติเมตร และ 3,417 กรัม/ตารางเมตร และมีน้ำหนักแห้ง 327 กรัม/ตารางเมตร ส่วนในปี 2557 พบว่า พลูคาวใบแดงพิษณุโลกมีความสูงมากที่สุด คือ 37.59 เซนติเมตร ส่วนพลูคาวใบแดงเชียงใหม่ มีน้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งสูงสุด คือ 3,560 และ 350 กรัม/ตารางเมตร ซึ่งไม่แตกต่างทางสถิติกับพันธุ์ใบเขียวแพร่ พลูคาวก้านม่วงแพร่ 2 มีปริมาณสาร Rutin และQuercitrin สูงสุด คือ 1.57 และ 2.60 มิลลิกรัมต่อกรัม และจากผลการวิเคราะห์ยังพบว่า พลูคาวก้านม่วงทั้ง 3 แหล่งปลูกมีปริมาณสารสำคัญทั้ง 2 ชนิดสูงกว่าพลูคาวใบแดงและพลูคาวใบเขียว และงานทดลองที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ซึ่งความสูงจากระดับน้ำทะเล 320 เมตร พบว่า เมื่อปลูกรักษาเป็นระยะเวลา 6 เดือน ไม่พบความแตกต่างของการเจริญในแนวราบด้านข้างเมื่อพิจารณาจากเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม แต่มีความแตกต่างของการเจริญเติบโตในแนวตั้งด้านความสูงต้นโดยพบว่า สายพันธุ์ใบแดงเชียงใหม่มีความสูงต้นมากที่สุด คือ 35.27 เซนติเมตร ซึ่งไม่แตกต่างจากสายพันธุ์ใบแดงพิษณุโลก สายพันธุ์ก้านม่วงแพร่ 2 สายพันธุ์ก้านม่วงแพร่ 1 สายพันธุ์ใบแดงเชียงราย และสายพันธุ์ใบเขียวแพร่ ที่มีความสูงต้นเท่ากับ 34.57, 34.37, 32.50, 32.50 และ 31.43 เซนติเมตร ตามลำดับ แต่แตกต่างจากสายพันธุ์ใบเขียวลำปาง และสายพันธุ์ก้านม่วงแพร่ 3 ที่ต้นมีความสูงที่น้อยกว่า 6 สายพันธุ์ดังกล่าว คือ 30.40 และ 30.23 เซนติเมตร ตามลำดับ ด้านจำนวนใบต่อต้นพบว่า สายพันธุ์ใบแดงเชียงราย มีจำนวนใบต่อต้นสูงที่สุด คือ 8.47 ใบ ซึ่งไม่แตกต่างกับสายพันธุ์อื่นๆ ยกเว้นสายพันธุ์ก้านม่วงแพร่ 1 ที่มีจำนวนใบต่อต้นน้อยที่สุด คือ 6.63 ใบ และเมื่อพิจารณาจากน้ำหนักสดต่อพื้นที่ปลูก 1 ตารางเมตร พบว่า สายพันธุ์ใบเขียวลำปาง สายพันธุ์ใบแดงพิษณุโลก สายพันธุ์ก้านม่วงแพร่ 2 และสายพันธุ์ใบเขียวสุโขทัย จัดเป็นกลุ่มสายพันธุ์ที่มีผลผลิตน้ำหนักสดต่อตารางเมตรที่สูง คือ 2,450 2,250 2,150 และ 2,050 กรัม ตามลำดับ ส่วนสายพันธุ์ก้านม่วงแพร่ 1 สายพันธุ์ใบแดงเชียงราย สายพันธุ์ใบแดงเชียงใหม่ และสายพันธุ์ใบเขียวแพร่ จัดเป็นกลุ่มสายพันธุ์ที่มีผลผลิตน้ำหนักสดต่อตารางเมตรที่ต่ำกว่ากลุ่มแรก คือ 1,250, 1,150 1,000 และ 1,000 กรัม ตามดำดับ แต่น้าหนักแห้งไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ และเมื่อนำผลผลิตสดไปวิเคราะห์หาปริมาณสารสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ Quercitin และ Rutin พบว่า สายพันธ์ก้านม่วงแพร่ 1 สายพันธุ์ก้านม่วงแพร่ 2 และสายพันธุ์ก้านม่วงแพร่ 3 มีแนวโน้มพบสารสำคัญ Quercitin ในผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์อื่น คือ 2.68 ± 0.04, 2.22 ± 0.16, และ 1.79 ± 0.21 (mg/g DW) ตามลำดับ ส่วนสารสำคัญ Rutin มีแนวโน้มพบมากที่สุดในพลูคาวสายพันธุ์ใบเขียวลำปาง สายพันธุ์ใบเขียวแพร่ และสายพันธุ์ก้านม่วงแพร่ 3 ซึ่งมีค่าเท่ากับ 1.25 ± 0.07, 0.94 ± 0.21 และ 0.87 ± 0.09 (mg/g DW) ตามลำดับ ดังนั้นหากต้องการพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงจึงควรเลือกใช้พลูคาวพันธุ์ใบเขียวหรือพันธุ์ใบแดง แต่หากต้องการปริมาณสารสำคัญสูงควรเลือกใช้พลูคาวก้านม่วง