01-13-2017, 03:30 PM
การสำรวจและวิเคราะห์ประเด็นปัญหาและแก้ไขการผลิตปาล์มน้ำมันให้เหมาะสมในพื้นที่จังหวัดสกลนคร
วีระวัฒน์ ดู่ป้อง, ไพฑูลย์ ไซยฮาต และศักดิ์สิทธิ์ ประสพสุข
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร
วีระวัฒน์ ดู่ป้อง, ไพฑูลย์ ไซยฮาต และศักดิ์สิทธิ์ ประสพสุข
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร
สำรวจและวิเคราะห์ประเด็นปัญหาพื้นที่ปลูกและแก้ไขการผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกรให้เหมาะสมในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ดำเนินการทดลองโดยใช้วิธีการสำรวจและรวบรวมข้อมูลโดยการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive sampling) และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ โดยคัดเลือกจากอำเภอที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากอันดับที่ 1 -3 ของจังหวัด สุ่มสำรวจเกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันจำนวน 100 ราย พบว่าจังหวัดสกลนครมีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 6,682 ไร่ โดยเฉพาะอำเภอคำตากล้า มีพื้นที่ปลูก จำนวน 1,876 ไร่ (สำนักงานเกษตรจังหวัดสกลนคร, 2556) ตำบลนาแต้ มีจำนวนพื้นที่ปลูก 712 ไร่ เกษตรกรปลูกมากที่สุดได้แก่ ตำบลคำตากล้า จำนวน 71 ราย โดยปัญหาเกี่ยวกับการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่จังหวัดสกลนครพบว่า ร้อยละ 62 มีปัญหาระหว่างปลูกปาล์มน้ำมันโดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำร้อยละ 38.71 ความรู้ร้อยละ 32.26 ปัญหาเรื่องโรคปาล์มน้ำมันที่สำคัญและพบมากที่สุด ได้แก่ โรคยอดเน่า คิดเป็นร้อยละ 46.88 ปัญหาแมลงศัตรูที่สำคัญและพบมากที่สุด ได้แก่ ด้วงกุหลาบ คิดเป็นเป็นร้อยละ 81.25 รวมถึงปัญหาการขาดธาตุอาหารพบว่า ปาล์มน้ำมันในพื้นที่จังหวัดสกลนครขาดไนโตรเจน (N) มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 48.65 ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาได้จากภาครัฐและเอกชนโดยนำเทคโนโลยีการจัดการสวนที่ถูกต้องให้เกษตรกรได้เรียนรู้วิธีการจัดการสวนที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้ เผยแพร่ และปรับใช้เทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมันที่ถูกต้องแก่เกษตรกรในจังหวัดสกลนครต่อไป