01-13-2017, 02:52 PM
การศึกษาการลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยปาล์มน้ำมันกับพื้นที่ที่มีศักยภาพการผลิตในภาคใต้ตอนบน
วิชนีย์ ออมทรัพย์สิน, ปัญจพร เลิศรัตน์, ชัชธนพร เกื้อหนุน, ทิวาพร ผดุง, สุปรานี มั่นหมาย, ณัฐพร ประคองเก็บ, ปิยะนันท์ วิวัฒน์วิทยา, ฤทธิ์ เอี่ยนเล่ง, เกริกชัย ธนรักษ์ และสุภัทรดิศ เผ่าวิหค
ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฏร์ธานี สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชพลังงาน, กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และสหกรณ์นิคมท่าแซะจำกัด
วิชนีย์ ออมทรัพย์สิน, ปัญจพร เลิศรัตน์, ชัชธนพร เกื้อหนุน, ทิวาพร ผดุง, สุปรานี มั่นหมาย, ณัฐพร ประคองเก็บ, ปิยะนันท์ วิวัฒน์วิทยา, ฤทธิ์ เอี่ยนเล่ง, เกริกชัย ธนรักษ์ และสุภัทรดิศ เผ่าวิหค
ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฏร์ธานี สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชพลังงาน, กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และสหกรณ์นิคมท่าแซะจำกัด
ปาล์มน้ำมันเป็นพืชหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรีอาเซียน เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าผู้ผลิตอื่น และเนื่องจากต้นทุนการผลิตของปาล์มน้ำมันประมาณ 40% เป็นค่าใช้จ่ายปุ๋ย การลดปริมาณการให้ปุ๋ยเคมีที่เกินจำเป็นโดยใช้เกณฑ์การความต้องการธาตุอาหารพืชจากระดับความสมบูรณ์ของดินที่เฉพาะเจาะจง ร่วมกับค่าวิเคราะห์ใบและผลผลิต นับเป็นทางเลือกการจัดการปุ๋ยอีกวิธีหนึ่ง จึงได้ดำเนินการประเมินอัตราการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและผลผลิตพืชร่วมกับปริมาณธาตุอาหารที่ควรชดเชยที่ถูกดูดดึงออกไปโดยการเก็บเกี่ยวผลผลิต และการสูญเสียธาตุอาหารจากขบวนการต่างๆ ในดิน แปลงเกษตรกรสหกรณ์นิคมท่าแซะจำกัด อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ในระหว่างปี 2554 - 2557เปรียบเทียบกับการจัดการปุ๋ยตามที่เกษตรกรปฏิบัติ นอกจากนั้นได้ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีบางส่วนด้วยการใส่จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต และการใส่กากสะเดาเพื่อชะลอการสูญเสียปุ๋ย ผลการประเมินการเจริญเติบโต จำนวนทะลายปาล์มสด น้ำหนักทะลายปาล์ม หลังจากการจัดการปุ๋ยแบบต่างๆ ติดต่อกัน 3 ฤดูกาลผลิต พบว่าการจัดการให้ปุ๋ยทั้ง 4 กรรมวิธี มีการเจริญเติบโตทางกิ่งก้านสมบูรณ์ไม่แตกต่างกัน แต่จากการประเมินผลผลิตทะลายปาล์มสดพบว่า การจัดการปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ใบและผลผลิต มีแนวโน้มให้จำนวนทะลายปาล์มสดไม่แตกต่างจากกรรมวิธีควบคุม คือ 17.71 และ 17.81 ทะลายต่อปี แต่ให้น้ำหนักทะลายปาล์มสดเฉลี่ยทั้ง 3 ฤดูกาล ผลิตสูงกว่ากรรมวิธีควบคุม โดยมีค่าเฉลี่ยคือ 235.90 และ 221.29 กก./ต้น/ปี ตามลำดับ และเนื่องจากมีการลดปริมาณการใส่ปุ๋ยลงด้วย จึงส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายปุ๋ยเคมีได้ ประมาณ 12 - 16 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีดัชนีผลตอบแทนการผลิตสูงกว่ากรรมวิธีควบคุม คือ 3.26 และ 2.58 ตามลำดับ ซึ่งการลดปริมาณการใส่ปุ๋ยลงระดับนี้ไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางกิ่งก้าน การให้ผลผลิตและความสมบูรณ์ดินยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตได้ดี