โครงการวิจัยและพัฒนาเห็ด
#1
โครงการวิจัยและพัฒนาเห็ด
อลงกรณ์ กรณ์ทอง

โครงการวิจัยที่ 1: วิจัยและพัฒนาเห็ดเศรษฐกิจสายพันธุ์ใหม่
สุวลักษณ์ ชัยชูโชติ และคณะ
กลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ, ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย จ. เชียงราย, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 จ.เชียงใหม่, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ จ.แพร่ และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จ.สงขลา

          ดำเนินการที่หน่วยงานส่วนกลาง ศูนย์วิจัยในส่วนภูมิภาค ของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 และฟาร์มเพาะเห็ดของเกษตรกรในส่วนภูมิภาค เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ถึงเดือนกันยายน 2558 มีทั้งหมด 5 กิจกรรม ดังนี้ 1) กิจกรรม: เห็ดขอนขาว มี 1 การทดลอง 2) กิจกรรม: เห็ดลม มี 1 การทดลลอง 3) กิจกรรม: เห็ด Coprinus spp. มี 2 การทดลอง 4) กิจกรรม: เห็ดร่างแห มี 2 การทดลอง และ 2 การทดลองย่อย และ 5) กิจกรรม: เห็ดที่มีศักยภาพ มี 12 การทดลอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวม คัดเลือกและประเมินสายพันธุ์เห็ดชนิดต่างๆ ให้ได้สายพันธุ์ที่มีคุณภาพและผลผลิตสูง เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในแต่ละพื้นที่ปรับปรุงพันธุ์โดยการผสมพันธุ์และประเมินสายพันธุ์ให้ได้เห็ดลูกผสมสายพันธุ์ใหม่เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรได้ใช้อย่างเหมาะสม อีกทั้งศึกษาและพัฒนาวัสดุเพาะเห็ดให้ได้ข้อมูลใช้แนะนำเกษตรกรให้นำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและได้ผล และพัฒนาวิธีการเพาะเห็ดที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่และแบบการผลิต รวมทั้งศึกษาการเก็บรักษาเชื้อพันธุ์เห็ดเพื่อการนำกลับมาใช้ประโยชน์ และศึกษาความหลากหลายของเห็ดในธรรมชาติเพื่อเพิ่มความหลากหลายของหน่วยพันธุกรรมสำหรับการศึกษาวิจัย จึงได้ทำการรวบรวม คัดเลือก และประเมินสายพันธุ์เห็ดขอนขาว เห็ดลม เห็ดสกุล Coprinus เห็ดร่างแห เห็ดหูหนูขาว เห็ดลิ้นกวาง เห็ดหอม และเห็ดแครง ปรับปรุงพันธุ์เห็ดภูฏานโดยการผสมพันธุ์ระหว่างเส้นใย นิวเคลียสคู่กับเส้นใยนิวเคลียสเดี่ยวและประเมินสายพันธุ์ ศึกษาและพัฒนาการเพาะเลี้ยงเห็ดในเรื่องวัสดุเพาะกับเห็ดต่งฝน และการให้น้ำเพื่อผลิตเห็ดตับเต่าเชิงพาณิชย์ ศึกษาการเก็บรักษาเชื้อพันธุ์ในน้ำกลั่นปลอดเชื้อในเห็ดตีนแรด เห็ด Oudemansiella spp. และเห็ดต่งฝน และการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของเห็ดในป่าเต็งรังและป่าสนในเขตจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่และพัฒนาสู่การเพาะเห็ดชนิดที่รับประทานได้

          พบว่า ได้สายพันธุ์เห็ดขอนขาวและเห็ดลมให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงที่สุดที่เหมาะสมกับการเพาะในภาคเหนือตอนบนในแต่ละฤดูกาลฤดูละหนึ่งสายพันธุ์ ได้สายพันธุ์เห็ด Coprinus comatus (O.F.Mull) Gray และชนิดอาหารเลี้ยงเชื้อ อาหารทำเชื้อขยายและวัสดุเพาะที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงเห็ดทั้งในระบบถุงพลาสติกและในตะกร้า ได้สายพันธุ์เห็ดร่างแห ชนิดอาหารเลี้ยงเชื้อ อาหารทำเชื้อขยายและวัสดุเพาะที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงเห็ดให้เกิดดอกได้ทั้งในระบบตะกร้าพลาสติก แปลงปลูกขนาดเล็ก (วงบ่อ) ภายในโรงเรือน และแปลงปลูกแบบอิฐบล็อก (กลางแจ้ง) จากการศึกษาในพื้นที่ภาคกลาง ส่วนการเพาะเลี้ยงแบบฝังก้อน การเพาะแบบเห็ดฟางกองเตี้ย การเพาะแบบวิธีที่มีรายงานก่อนหน้าซึ่งศึกษาในพื้นที่ภาคเหนือ เส้นใยเห็ดสามารถเจริญเติบโตได้แต่ยังไม่สามารถกระตุ้นให้สร้างดอกเห็ดได้ ทั้งนี้อาจมีสภาพแวดล้อมอื่นที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป สามารถแยกเชื้อบริสุทธิ์เห็ดหูหนูขาว และเชื้อรา Hypoxylon sp. และผสมเชื้อสองชนิดเข้าด้วยกันเป็น Mix Mother Culture เป็นเชื้อขยายบนวัสดุทำเชื้อขยาย คือ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา: รำ: ปูนขาว: ดีเกลือ ความชื้น 65 เปอร์เซ็นต์ได้ แต่การผลิตก้อนเชื้อเห็ดและการกระตุ้นการเกิดดอกยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากประสบปัญหามีไรศัตรูเห็ดเข้าทำลายเส้นใยในก้อนวัสดุเพาะ ได้สายพันธุ์เห็ดลิ้นกวางที่เจริญได้ดีที่สุดที่ช่วงอุณหภูมิ 25 - 27°C โดยอาหารที่มีแหล่งคาร์บอนเป็นแมนโนสเส้นใยเห็ดเจริญได้ดีแต่ความต้องการชนิดแหล่งไนโตรเจนจะแตกต่างกันไปในแต่ละสายพันธุ์ การใช้เมล็ดข้าวฟ่างเป็นอาหารเพื่อทำเชื้อขยายและใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราเป็นวัสดุเพาะหลักเส้นใยเห็ดเจริญได้แต่ยังจำเป็นต้องหาความเหมาะสมของอาหารหรือวัสดุเสริมในการทำอาหารเพื่อทำเชื้อขยายหรือเป็นวัสดุเพาะเห็ด รวมทั้งสภาพแวดล้อมด้านอุณหภูมิและแสงสว่างเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างดอก ได้สายพันธุ์เห็ดหอมที่สามารถออกดอกได้ในฤดูหนาว และ ช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยผลผลิตของเห็ดหอมต่อก้อนที่เปิดดอกในช่วงฤดูหนาวให้ผลผลิตสูงกว่าการเปิดดอกช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน และคุณภาพของเห็ดหอมสายพันธุ์ต่างๆ มีความแตกต่างกันเมื่อเพาะในแต่ละฤดูและภายในฤดูเดียวกันก็มีความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ที่ทดสอบ โดยภาพรวมพบว่าขนาดของก้านเห็ดหอมทุกสายพันธุ์ที่เพาะในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนจะมีขนาดใหญ่กว่าก้านของเห็ดหอมที่เพาะในฤดูหนาว และได้สายพันธุ์เห็ดแครงที่ผ่านการคัดเลือกโดยพิจารณาจากการเจริญเติบโตบนอาหารเลี้ยงเชื้อและลักษณะทางสัณฐานวิทยา และการให้ผลผลิตดีที่สุดเมื่อเพาะทดสอบเปรียบเทียบผลผลิตโดยใช้วัสดุเพาะหลักเป็นขี้เลื่อยไม้ยางพารา : ข้าวฟ่าง : รำละเอียด : ปูนขาว และได้สูตรอาหารที่เหมาะสมต่อการเพาะเห็ดแครงในพื้นที่ภาคใต้ด้วย ซึ่งมีส่วนผสมของขี้เลื่อยไม้ยางพารา : ข้าวโพดปุน: ข้าวฟ่าง: รำละเอียด : ปูนขาว อัตราส่วน 100 : 20 : 10 : 5 : 1 สำหรับการปรับปรุงพันธุ์เห็ดภูฏานโดยการผสมพันธุ์ระหว่างเส้นใยนิวเคลียสคู่กับเส้นใยนิวเคลียสเดี่ยวและประเมินสายพันธุ์พบว่า จากการนำเห็ดสกุลนางรม 25 สายพันธุ์ที่เก็บรวบรวมไว้มาเพาะทดสอบเพื่อดูลักษณะทางสัณฐานวิทยาและการให้ผลผลิตบนวัสดุเพาะขี้เลื่อยในถุงพลาสติก เพื่อคัดเลือกทำเส้นใยนิวเคลียสเดี่ยว 268 สายพันธุ์ผสมกับเส้นใยนิวเคลียสคู่ของเห็ดภูฏานเบอร์ 3 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ให้บริการของกรมวิชาการเกษตรได้คู่ผสม 18 คู่ผสมที่เส้นใยผสมกันได้ เมื่อนำไปเพาะทดสอบในอาหารเพาะขี้เลื่อย 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูหนาว ฤดูร้อนและฤดูฝน พบว่าเห็ดภูฏานลูกผสมทั้ง 18 สายพันธุ์ออกดอกให้ผลผลิต และมีเห็ดลูกผสม 4 สายพันธุ์ให้ผลผลิตดีกว่าสายพันธุ์เปรียบเทียบโดยมีความแตกต่างทางสถิต

          ส่วนการศึกษาและพัฒนาการเพาะเลี้ยงเห็ดในเรื่องวัสดุเพาะกับเห็ดต่งฝนพบว่า อาหารเพาะเห็ดต่งฝนโดยใช้วัสดุหลักเป็นขี้เลื่อยผสมรำ การใส่ดีเกลือเป็นวัสดุเสริมอัตรา 1% ให้ผลผลิตสูงกว่าที่ 2% สำหรับการใช้ปูนขาวอัตรา 0.5 หรือ 1 หรือ 1.5% และยิบซั่มอัตรา 1 หรือ 2 หรือ 3% ผสมอาหารเพาะ เส้นใยเห็ดต่งฝนเจริญและออกดอกให้ผลผลิตได้ ดังนั้นในการเตรียมอาหารเพาะเห็ดต่งฝนเพื่อช่วยลดต้นทุนค่าวัสดุอาหารเสริม อัตราดีเกลือเหมาะสมที่ 1% สำหรับการใช้ปูนขาวอัตรา 0.5 หรือ 1% ก็เพียงพอในการผสมอาหารเพาะเลี้ยงเห็ดให้เกิดดอกได้ และยิบซั่มในอัตรา 1% ก็ใช้ได้ และการให้น้ำเพื่อผลิตเห็ดตับเต่าเชิงพาณิชย์เขตภาคเหนือ ทดสอบกับต้นพืชอาศัย ได้แก่ มะเกี๋ยง โสน หางนกยูงไทย ชมพู่ มะกอก มะม่วง แค และซ่อนกลิ่น โดยปลูกเชื้อเห็ดตับเต่าให้แก่ต้นพืชอาศัย และมีกรรมวิธีให้น้ำ 2 วิธี คือ 1) ให้น้ำตามแผนการทดสอบ คือ ให้น้ำระบบสปริงเกลอร์แก่ต้นพืชอาศัยในแปลงวันละ 2 ชั่วโมง ติดต่อกัน 3 วัน เพื่อเพิ่มความชื้นให้กับดินโดยรอบระบบรากต้นพืชอาศัย และหยุดการให้น้ำ 5 วัน เพื่อให้ความชื้นในดินบริเวณระบบรากมีการกระจายอย่างสม่ำเสมอ หลังจากนั้นให้น้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อรักษาระดับความชื้นในดินให้เพียงพอ 2) ให้น้ำตามแบบเกษตรกร คือ การให้พืชอาศัยได้รับน้ำแบบธรรมชาติตามฤดูกาลพบว่า หลังจากการปลูกเชื้อเมื่อตรวจรากหลังจากปลูกเชื้อเห็ดตับเต่าให้แก่ต้นพืชอาศัยชนิดต่างๆ นาน 3 เดือน และ 6 เดือน ในกรรมวิธีที่ 1 พบว่า ต้นพืชอาศัยทุกชนิดมีเชื้อเห็ดตับเต่าเข้าอาศัยอยู่ในรากตั้งแต่ 20 - 80 เปอร์เซ็นต์ และ 66 - 100 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนกรรมวิธีที่ 2 มีตั้งแต่ 0 - 43 เปอร์เซ็นต์ และ 20 - 80 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ แต่ยังไม่พบการสร้างเห็ดตับเต่าในพืชอาศัยชนิดใดเลย

          การศึกษาเก็บรักษาเชื้อพันธุ์ในน้ำกลั่นปลอดเชื้อในเห็ดตีนแรด เห็ด Oudemansiella spp. และเห็ดต่งฝนพบว่า วิธีเก็บในน้ำกลั่นปลอดเชื้อเก็บรักษาเส้นใยเห็ดทั้งสามชนิดได้ 18 เดือน โดยที่เส้นใยเห็ดยังคงความมีชีวิตของเส้นใย การเจริญของเส้นใยรวมทั้งความสามารถในการออกดอกให้ผลผลิตเช่นเดียวกับการเก็บบนอาหารวุ้นและถ่ายเชื้อทุก 2 เดือน ไว้ที่อุณหภูมิห้องเย็น (25 ± 2 oซ) ซึ่งเป็นวิธีเปรียบเทียบ และการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของเห็ดในป่าเต็งรังและป่าสนในเขตจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ และพัฒนาสู่การเพาะเห็ดชนิดที่รับประทานได้ พบว่าในป่าเต็งรังจำนวน 8 แห่ง พบเห็ดที่จำแนกได้ 70 ชนิด ใน 10 order 26 family ซึ่งเป็นเห็ดชนิดที่รับประทานได้ 31 ชนิด รับประทานไม่ได้ 18 ชนิด และไม่มีข้อมูลว่ารับประทานได้อีก 21 ชนิด สามารถแยกเชื้อบริสุทธิ์และนำมาเพาะในสภาพโรงเรือนได้สองชนิด คือ เห็ดขอนขาว (Lentinus squarrosulus (Mont) และเห็ดลมป่า (Lentinus polychrous Lev.) และในป่าสนเขาและป่าเบญจพรรณจำนวน 5 แห่ง พบเห็ดที่จำแนกได้ 37 ชนิด ใน 8 order 17 family ซึ่งเป็นเห็ดชนิดที่รับประทานได้ 12 ชนิด รับประทานไม่ได้ 8 ชนิด และไม่มีข้อมูลว่ารับประทานได้อีก 12 ชนิด แยกเชื้อบริสุทธิ์ชนิดที่รับประทานได้และนำมาเพาะเลี้ยงในสภาพโรงเรือนได้ 1 ชนิด คือ เห็ดต่งฝน (Lentinus giganteus Berk.)

โครงการวิจัยที่ 2: วิจัยและพัฒนาการอารักขาเห็ด
อภิรัชต์ สมฤทธิ์


โครงการวิจัยที่ 3: วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้วัสดุและอาหารเสริมเพาะเห็ดเศรษฐกิจ
สุวลักษณ์ ชัยชูโชติ และคณะ
กลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ, ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 จ.เชียงใหม่ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ จ.แพร่

          โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้วัสดุและอาหารเสริมเพาะเห็ดเศรษฐกิจ ดำเนินการที่หน่วยงานส่วนกลาง ศูนย์วิจัยในส่วนภูมิภาค ของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ และฟาร์มเพาะเห็ดของเกษตรกรในส่วนภูมิภาค เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนกันยายน 2557 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการนำวัสดุเหลือใช้หรือวัสดุเหลือทางการเกษตรหรือทางอุตสาหกรรม ได้แก่ กากเมล็ดกาแฟ หญ้าในท้องถิ่น ฟางข้าว เปลือกข้าวโพด เพาะเห็ดนางรมฮังการี เห็ดนางฟูาภูฏาน เห็ดนางรม เห็ดฟาง เห็ดถั่ว และเห็ดต่งฝน ตลอดจนศึกษาเทคโนโลยีการเพาะเห็ดกระดุมบราซิล และทดสอบการใช้หัวเชื้อในอาหารเหลวและการใช้ก้อนวัสดุเพาะขนาดเล็กลงเพื่อการลดระยะเวลาในขั้นตอนการผลิตหัวเชื้อ การบ่มเชื้อ จนถึงขั้นตอนการเปิดดอกให้เสร็จสมบูรณ์ได้เร็วขึ้นในการเพาะเห็ดหอมให้เป็นทางเลือกแก่เกษตรกรผู้เพาะเห็ดใช้ในกระบวนการผลิตเห็ด จึงได้ทำการศึกษา (1) การใช้กากเมล็ดกาแฟเพื่อการผลิตเห็ดนางรม เห็ดฟาง และเห็ดถั่ว (2) การเพาะเห็ดเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในพื้นที่ด้วยหญ้าท้องถิ่น (3) การทดสอบเทคโนโลยีการเพาะเห็ดนางฟ้า เห็ดนางรมฮังการีด้วยเปลือกข้าวโพด (4) ศึกษาการเพาะเห็ดต่งฝนบนวัสดุเพาะต่างๆ (5) เทคโนโลยีการเพาะเห็ดกระดุมบราซิล Agaricus blazei และ (6) การทดสอบเทคโนโลยีการใช้หัวเชื้ออาหารเหลวในการผลิตเห็ดหอมบนก้อนเพาะขนาดต่างๆ พบว่า วัสดุที่ศึกษาสามารถใช้เพาะเห็ดบางชนิดได้ ผลผลิตเห็ดที่ได้ค่อนข้างสูงกว่าผลผลิตเห็ดที่ได้จากการเพาะบนขี้เลื่อยเมื่อเปรียบเทียบกัน โดยสามารถใช้วัสดุที่ศึกษาเป็นวัสดุหลักในการเพาะได้ แต่การเพาะเห็ดบางชนิดไม่สามารถใช้เป็นวัสดุหลักได้ต้องใช้เป็นวัสดุผสม และในเห็ดบางชนิดไม่สามารถเพาะเลี้ยงให้เกิดดอกได้ แต่ระยะเวลาการเก็บผลผลิตหรืออายุการใช้งานถุงอาหารเพาะจะสั้นกว่าการใช้ขี้เลื่อยเป็นวัสดุในรอบการผลิตเดียวกัน ขี้เลื่อยมีระยะเวลาในการเก็บผลผลิตนานกว่า สำหรับการทดสอบการใช้หัวเชื้อในอาหารเหลว และ การใช้ก้อนวัสดุเพาะขนาดเล็กลง ได้ข้อสรุปที่จะเป็นทางเลือกในการผลิตเห็ดหอมให้เกษตรกร คือ การใช้ก้อนวัสดุเพาะที่ขนาดเล็กลง (300 และ 500 กรัม) สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการใช้ก้อนวัสดุเพาะขนาดปกติ (900 กรัม) ส่วนการใช้หัวเชื้ออาหารเหลว เพาะเห็ดหอมบนก้อนวัสดุเพาะขนาด 500 กรัม ในช่วงเวลาการเพาะทุกรุ่นให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการใช้ก้อนวัสดุเพาะขนาดปกติ ที่ใช้หัวเชื้อเหลวและหัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่าง


ไฟล์แนบ
.pdf   216_2558.pdf (ขนาด: 12.25 MB / ดาวน์โหลด: 22,696)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม