วิจัยและพัฒนาสับปะรด
#1
วิจัยและพัฒนาสับปะรด
ทวีศักดิ์ แสงอุดม

โครงการวิจัย 1 การปรับปรุงพันธุ์สับปะรด
มัลลิกา นวลแก้ว, วลัยภรณ์ ชัยฤทธิไชย, สมบัติ บวรพรเมธี, สมบัติ ตงเต๊า, เสาวคนธ์ วิลเลี่ยมส์, ทวีศักดิ์ แสงอุดม, วีระ วรปิติ

          สับปะรด (Ananas comosus L. Merr) เป็นผลไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย การวิจัยและพัฒนาที่ผ่านมาส่วนมากเป็นไปในด้านการเขตกรรมและการอารักขาพืช การวิจัยและพัฒนาพันธุ์หรือสายพันธุ์ยังไม่สามารถสร้างพันธุ์หรือสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาได้ ทำให้พันธุ์ที่ปลูกยังคงเป็นพันธุ์เดิม ผลผลิตเฉลี่ย 3.89 ตัน/ไร่ ซึ่งอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำและสับปะรดเพื่อการแปรรูปยังคงใช้พันธุ์ปัตตาเวียเป็นวัตถุดิบ ซึ่งมีปัญหาด้านผลผลิตและความสม่ำเสมอของพันธุ์ทำให้ผลผลิตสุกไม่พร้อมกัน จึงต้องเก็บเกี่ยวหลายรอบ รวมทั้งมีการกลายลักษณะไม่พึงประสงค์มากขึ้น เช่น การเกิดหนามตลอดทั้งใบ ผลไม่เป็นทรงกระบอก สีเนื้อไม่สม่ำเสมอ ผลขนาดเล็กลง และอ่อนแอต่อโรคเหี่ยวสับปะรด ส่วนสับปะรดเพื่อบริโภคผลสดที่นิยมปลูกจะมีหลากหลายพันธุ์ แต่ไม่มีพันธุ์ที่มีศักยภาพเพื่อการส่งออก เนื่องจากการเกิดอาการไส้สีน้ำตาลที่เกิดจากการเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำระหว่างการขนส่ง การปรับปรุงพันธุ์สับปะรดในครั้งนี้เพื่อให้ได้สับปะรดที่มีลักษณะใหม่ และมีคุณลักษณะดีเด่น เหมาะสมต่อการใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูป และ/หรือบริโภคผลสด เพื่อใช้เป็นพันธุ์ปลูกพันธุ์ใหม่ หรือเป็นแหล่งพันธุกรรมที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ต่อไป โดยมีการดำเนินงาน 3 แนวทาง ได้แก่ การผสมพันธุ์เพื่อสร้างลูกผสม การคัดเลือกสายต้น และการชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ด้วยรังสีแกมมา ซึ่งในแต่ละแนวทางมีขั้นตอนคือการคัดเลือกพันธุ์ การเปรียบเทียบพันธุ์ และการทดสอบพันธุ์ การผสมพันธุ์เพื่อสร้างสับปะรดลูกผสม โดยขั้นตอนการเปรียบเทียบ และทดสอบพันธุ์ปริมาณหน่อพันธุ์ดีไม่เพียงพอต่อการดำเนินการจึงเพิ่มปริมาณด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเข้ามาช่วยเพื่อลดระยะเวลาการผลิตหน่อ การคัดเลือกสายตันสับปะรดที่ปลูกเป็นการค้าอยู่แล้วเป็นแนวทางการปรับปรุงพันธุ์อย่างหนึ่งเพื่อให้ได้สับปะรดที่มีลักษณะดีซึ่งใช้ระยะเวลาสั้นกว่าการผสมพันธุ์ โดยสับปะรดเพื่อการบรรจุกระป๋องคัดเลือกจากสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย และสับปะรดเพื่อการบริโภคสดคัดเลือกจากสับปะรดพันธุ์สวี ตราดสีทอง และภูเก็ต ส่วนการชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์เป็นการเพิ่มฐานพันธุกรรมในสับปะรดเพื่อให้ได้ลักษณะใหม่ที่เป็นลักษณะดี เพื่อใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกหรือเป็นแหล่งพันธุกรรมสำหรับการผสมพันธุ์ต่อไป ดังนั้นการปรับปรุงพันธุ์สับปะรดด้วยวิธีต่างๆ นั้นจึงเป็นแนวทางการสร้างสับปะรดสายพันธุ์/สายต้นที่มีลักษณะดีเหมาะสมต่อการบรรจุกระป๋อง และ/หรือบริโภคผลสดต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นอันดับหนึ่งในการผลิตและส่งออกสับปะรดอย่างยั่งยืนต่อไป

โครงการวิจัย 2 การวิจัยพัฒนาและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตสับปะรด
ทวีศักดิ์ แสงอุดม, ชยานิจ ดิษฐบรรจง, กษิดิศ ดิษฐบรรจง, ภุมรินทร์ วณิชชนานันท์, สิริชัย สาธุวิจารณ์, จรรยา มณีโชติ, วนิดา ธารถวิล, เสริมศิริ คงแสงดาว, สำราญ สะรุโณ, วันเพ็ญ ศรีทองชัย, ปริเชษฐ์ ตั้งกาญจนภาสน์, กาญจนา วาระวิชะนี, มัลลิกา นวลแก้ว, ศุกร์ เก็บไว้, จิตต์ เหมพนม และนลินี จากริกภากร

          การผลิตสับปะรดของประเทศไทยในปัจจุบันมีปัญหาที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาผลผลิตต่ำ การกระจายปริมาณผลผลิตไม่สม่ำเสมอ และมีการระบาดของโรค โดยเฉพาะโรคเหี่ยว ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส (Pineapple wilt disease หรือ Mealybug wilt of pineapple) สำหรับประเทศไทยมีรายงานว่า พบการระบาดของโรคเหี่ยวในแหล่งปลูกสับปะรดของจังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ปี 2532 และทำความเสียหายให้แก่ผลผลิตอย่างสูง ต่อมาในปี 2546 โรคนี้ระบาดรุนแรงในแปลงปลูกสับปะรดของภาคตะวันตกบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกสำคัญของประเทศ นอกจากนี้เริ่มพบการเข้าทำลายของโรคนี้ในเขตจังหวัดชลบุรี ระยอง และตราด ซึ่งเป็นแหล่งปลูกสับปะรดที่สำคัญเพื่อส่งโรงงานแปรรูปของภาคตะวันออก โรคเหี่ยวเกิดจากเชื้อไวรัส Pineapple mealybug wilt-associated virus (PMWaVs ได้แก่ PMWaV-1 และ PMWaV-2) เชื้อกระจายอยู่หนาแน่นเฉพาะภายในเซลล์ท่ออาหารของสับปะรด โดยมีเพลี้ยแป้งสีชมพู [Dysmicoccus brevipes (Cockerell)] และเพลี้ยแป้งสีเทา (D. neobrevipes Beardsley) เป็นแมลงพาหะ และมีมดคันไฟ (Solenopsis sp.) และมดหัวโต (Pheidolesp.) เป็นตัวพาเพลี้ยแป้งให้กระจายจากต้นหนึ่งไปยังต้นอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง และมีวัชพืชชนิดต่างๆ เป็นแหล่งหลบซ่อนของมดและเพลี้ยแป้ง และปัจจุบันไม่มีสารเคมีที่สามารถป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวสับปะรดได้ นอกจากนี้ปัญหาด้านการจัดการวัชพืชนับเป็นปัญหาสำคัญในการผลิตสับปะรด และเนื่องจากการใช้สารกำจัดวัชพืชชนิดเดิมติดต่อกันเป็นเวลานานทำให้วัชพืชสามารถปรับตัวได้ ซึ่งวัชพืชเป็นตัวแย่งปัจจัยการเจริญเติบโตและเป็นที่อาศัยของแมลงศัตรูพืช เนื่องจากสับปะรดเป็นพืชที่เจริญเติบโตช้าในระยะแรก จึงเป็นพืชที่มีศักยภาพด้อยในการแข่งขันกับวัชพืช จึงจำเป็นต้องกำจัดวัชพืชในช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้นการทดลองศึกษาสารกำจัดวัชพืชชนิดใหม่ที่มีกลไกการเข้าทำลายต่างออกไป จึงมีความจำเป็นเพื่อเป็นตัวเลือกให้เกษตรกรใช้สำหรับป้องกันการระบาดของวัชพืชเหล่านั้น ที่อาจเกิดความต้านทานต่อสารกำจัดวัชพืชเดิม และยังเป็นการกำจัดวัชพืชที่เป็นแหล่งอาศัยของเพลี้ยแป้ง พาหะของไวรัสโรคเหี่ยวสับปะรดได้อีกทางหนึ่งด้วย นอกจากปัญหาวัชพืชแล้วเวลาเตรียมแปลงปลูกใหม่แทนที่ต้นสับปะรดเก่า มักประสบกับปัญหาในการไถกลบ เพื่อหมักต้นตอสับปะรดเก่าเหล่านี้ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง และพบว่ามีการกำจัดต้นตอสับปะรดแตกต่างกันไป เช่น การใช้สารกำจัดวัชพืช การใช้รถแทรกเตอร์ดันต้นตอสับปะรดเก่าออกจากแปลงปลูก วิธีการนี้จะทำให้สูญเสียทั้งอินทรียวัตถุที่หน้าดินและจากต้นแก่ของสับปะรด และอีกวิธีหนึ่ง คือ การปั่นต้นตอสับปะรดด้วยจอบหมุนติดรถแทรกเตอร์ แล้วทำการไถพรวน ซึ่งส่วนของลำต้นที่ถูกสับสามารถงอกเป็นต้นใหม่อยู่ในแปลงปลูกสับปะรด ดังนั้น จึงต้องหาสารเคมีที่ใช้กำจัดต้นตอสับปะรดในระหว่างเตรียมแปลงปลูกสับปะรด ด้านการขยายพันธุ์สับปะรดตามปกติจะใช้หน่อ จุก หรือบางครั้งใช้จากตะเกียงซึ่งจะมีปริมาณที่จำกัด ดังนั้นกรณีที่ต้องการต้นพันธุ์มากในระยะเวลาที่รวดเร็วจึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงการเพิ่มปริมาณเพื่อการขยายพันธุ์ โดยการเพาะเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งมีศักยภาพมากกว่าการขยายพันธุ์ตามปกติ ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อขยายพันธุ์กรณีที่ต้นพันธุ์ขาดแคลนหรือต้องการต้นพันธุ์สะอาดจึงเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นจึงได้ศึกษาความเป็นไปได้ของการขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณยอดรวมของสับปะรดในระบบ Temporary Immersion Bioreactor เปรียบเทียบกับการขยายพันธุ์ในระบบอาหารเหลวและอาหารแข็ง

โครงการวิจัย 3 ทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสับปะรดในพื้นที่เกษตรกร
ละเอียด ปั้นสุข, มัลลิกา นวลแก้ว, ศรีนวล สุราษฎร์, ผนิต หมวกเพชร, จันทนา ใจจิตร, ศักดิ์ดา เสือประสงค์, เครือวัลย์ บุญเงิน, อรัญญา ภู่วิไล, อำนาจ จันทร์กลิ่น, อาภรณ์ ภาคภูมิ, วลัยภรณ์ ชัยฤทธิไชย, เสาวคนธ์ วิลเลี่ยมส์, วันเพ็ญ ศรีทองชัย, สุเทพ สหายา, ชูชาติ วัฒนวรรณ, อรุณี วัฒนวรรณ, จรีรัตน์ มีพืชน์, หฤทัย แก่นลา, นพดล แดงพวง, สุเมธ พากเพียร, จารุณี ติสวัสดิ์, เกษสิริ ฉันทะพิริยะพูน, อุมาพร รักษาพราหมณ์, นรินทร์ พูลเพิ่ม, พิชาภพ เกตุทอง, ธำรง ช่วยเจริญ, ยงศักดิ์ สุวรรณเสน, สุวรรณ ทิพย์เมืองพรหม, เกศวดี สุขสันติมาศ, มนัสชญา สายพนัส, ยุพา คงสีไพร, พานิช จิตดี, ประภาพร แพงดา และชอุ่ม ออไอศูรย์

          สับปะรดเป็นผลไม้ที่ปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย ในสภาพดินร่วนหรือร่วนปนทราย ไม่มีน้ำท่วมขัง ปริมาณฝนกระจายสม่ำเสมอ ประมาณ 1,000 - 1,500 มิลลิเมตรต่อปี ดินมีอินทรียวัตถุไม่ต่ำกว่า 1.5 เปอร์เซ็นต์ และต้องเป็นพื้นที่ที่มีแสงแดดจัด สับปะรดมีปริมาณการผลิตและการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจึงมีการการขยายพื้นที่การปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงเพียงพอต่อความต้องการ แต่การขยายพื้นที่การผลิตโดยขาดการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของโรงงานที่มีต้องการที่สม่ำเสมอ แต่ผลผลิตได้มีกระจุกตัวอยู่ช่วงสั้นๆ ในช่วงเดือนพ.ค. – มิ.ย.และพ.ย. – ธ.ค. ทำให้เกินกำลังผลิตของโรงงาน ราคาผลผลิตจึงตกต่ำแต่ในช่วงอื่นผลผลิตกลับไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงาน การกระจุกตัวของผลผลิตเนื่องจากพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนจึงต้องปลูกในเดือน ม.ค. – เม.ย. เพื่อให้เจริญเติบโตในฤดูฝนพอถึงฤดูหนาวมีการเจริญเติบโตเต็มที่เมื่อได้รับอากาศเย็นช่วงเดือน ธ.ค. – ม.ค. จึงออกดอก ทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนพ.ค. นอกจากนี้การออกดอกธรรมชาติเป็นปัญหาที่ทำให้การจัดการในแปลงทำได้ยากขึ้น ลดประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยว เพิ่มต้นทุน และอาจจะทำให้คุณภาพผลผลิตลดลงได้ การวางแผนปลูกชนิดและขนาดวัสดุหน่อพันธุ์ จึงมีความสำคัญต่อการวางแผนการผลิต สำหรับปัญหาการระบาดของโรคเหี่ยวในสับปะรดส่งโรงงานพันธุ์ปัตตาเวีย ทำให้ผลผลิตเสียหาย และยังมีแนวโน้มการระบาดขยายวงกว้างมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังกวัดพิษณุโลก และจังหวัดอุตรดิตถ์ ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดขาดทุนเป็นอย่างมาก ซึ่งเชื้อไวรัสสาเหตุโรคเหี่ยวนี้อยู่ที่ต้นและรากสับปะรด ถ่ายทอดโดยเพลี้ยแป้งเป็นพาหะดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นสับปะรด แล้วมดเป็นตัวพาเพลี้ยแป้งไปถ่ายทอดเชื้อสู่ต้นสับปะรดต้นอื่นๆ วัชพืชเป็นหลบซ่อนอาศัยของมดและเพลี้ยแป้ง สำหรับการกำจัดมดและเพลี้ยแป้งนั้นพบว่าการใช้เหยื่อพิษไฮดราเมทิลนอน (แอมโดร 0.73%BG) ก่อนปลูก อัตรา 275 กรัมต่อไร่ ได้ผลดีเท่ากับสารฆ่าแมลงชนิดอื่นๆ แต่ถ้าจะกำจัดเพลี้ยแป้งด้วยควรใช้ควบคู่กับสารฆ่าแมลง ไดอะซินอน (บาซูดิน 60%EC) อัตรา 500 มิลลิลิตรต่อไร่ อย่างไรก็ตามการใช้หน่อพันธุ์จากแหล่งไม่มีโรคเหี่ยวระบาด เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถลดการระบาดของโรคเหี่ยวได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาการปลูกสับปะรดของเกษตรกร โดยการนำเทคโนโลยีการผลิตที่ดีที่สามารถแก้ปัญหาโรคเหี่ยวสับปะรด และยกระดับมาตรฐานการผลิตสับปะรด โดยเฉพาะเทคโนโลยีในด้านการปรับปรุงบำรุงดิน การใช้ปุ๋ยเคมีที่ดีและมีประสิทธิภาพ การป้องกันกำจัดศัตรูพืช และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการให้น้ำเพื่อกระจายผลผลิตให้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี นำไปทดสอบและปรับใช้ในพื้นที่ โดยให้เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย มีส่วนร่วมในการดำเนินงานทดสอบเปรียบเทียบในทุกขั้นตอน จะเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เกษตรกรเรียนรู้ขั้นตอนการผลิตและกระบวนการผลิตด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถรับและนำเทคโนโลยีที่ได้ไปปรับใช้ได้เป็นอย่างดี


ไฟล์แนบ
.pdf   208_2558.pdf (ขนาด: 669.8 KB / ดาวน์โหลด: 13,476)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม