วิจัยและพัฒนาข้าวโพดฝักสด
#1
วิจัยและพัฒนาข้าวโพดฝักสด
กิตติภพ วายุภาพ

          โครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดหวาน ประกอบด้วย 4 กิจกรรม คือ การพัฒนาพันธุ์ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ระบบการผลิตและการตลาด และการทดสอบเทคโนโลยีการผลิตในแต่ละสภาพพื้นที่ ดำเนินการระหว่างปี 2554 - 2558 ที่สถาบันวิจัย กองวิจัย สำนักวิจัย ศูนย์วิจัยพืชไร่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร และแปลงเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวโพดหวานที่สำคัญของประเทศ วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวาน พัฒนาชุดเทคโนโลยีการผลิตให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เป็นข้อมูลในการกำหนดแนวทางการผลิต การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตสำหรับเกษตรกร และทดสอบชุดเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดหวานที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ผลการวิจัยสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสม ได้จำนวน 2 พันธุ์ คือ ข้าวโพดหวานลูกผสมพันธุ์ชัยนาท 86-1 ให้ผลผลิตฝักสดทั้งเปลือก 2,888 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตฝักสดปอกเปลือก 1,939 กิโลกรัมต่อไร่ และข้าวโพดหวานลูกผสมพันธุ์ชัยนาท 2 ให้ผลผลิตฝักสดทั้งเปลือก 2,897 กิโลกรัมต่อไร่ และผลผลิตฝักสดปอกเปลือก 1,965 กิโลกรัมต่อไร่ ต้านทานปานกลางต่อโรคใบไหม้แผลใหญ่ พร้อมเทคโนโลยีการผลิตที่จำเพาะกับพันธุ์ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดหวาน ได้คำแนะนำการจัดการน้ำและธาตุอาหารในการผลิตข้าวโพดหวานที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ในพื้นที่ดินเหนียว - ร่วนเหนียว บนชุดดินทับกวาง ควรให้น้ำที่ระดับความชื้นดินที่ลดลง 40 เปอร์เซ็นต์ของ AWC ร่วมกับอัตราปุ๋ยนั้นการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน บนชุดดินวังสะพุง ควรให้น้ำที่ระดับช่วงความชื้นดินที่ลดลง 40 เปอร์เซ็นต์ของ AWC ร่วมกับการใส่ปุ๋ยไนโตรเจน 1.25 เท่า ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมในปริมาณ 1 เท่าตามค่าวิเคราะห์ดิน ในพื้นที่ดินร่วนร่วนปนทราย บนชุดดินกำแพงแสนและท่าม่วง ควรให้น้ำที่ระดับความชื้นดินที่ลดลง 60 เปอร์เซ็นต์ของ AWC ร่วมกับอัตราปุ๋ย 1.5 เท่า ตามค่าวิเคราะห์ดิน ด้านการจัดการธาตุอาหาร ในดินเหนียว - ร่วนเหนียว ชุดดินทับกวางควรใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 15-10-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ในขณะที่ชุดดินวังสะพุงให้ใส่ปุ๋ยไนโตรเจน 22.5 - 30 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยฟอสเฟตและปุ๋ยโพแทช 10-5 กิโลกรัม P2O5-K2O ต่อไร่ ในดินร่วนร่วนปนทราย ให้ใส่ปุ๋ยอัตรา 30-10-10 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ซึ่งเป็นการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยดินชุดกำแพงแสนให้ใส่ปุ๋ย 0.5 เท่าตามค่าวิเคราะห์ดินร่วมกับปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ หรือใส่ปุ๋ย 0.5 เท่าตามค่าวิเคราะห์ดินร่วมกับมูลวัว 500 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ ในขณะที่ชุดดินท่าม่วง ควรใส่ปุ๋ยอัตรา 30-10-10 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพทำให้ได้ผลผลิตสูงสุดในพื้นที่ชุดดินหาดใหญ่ การจัดการธาตุอาหารโดยไม่ปรับปรุงดินพบว่า การใส่ปุ๋ย 30-0-10 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าต่อการลงทุนสูงสุด ในสภาพที่มีการปรับปรุงดินพบว่า การใส่ปุ๋ย 30-5-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ ให้ผลผลิตฝักสดทั้งเปลือกเฉลี่ยสูงสุด และมีผลตอบแทนคุ้มค่าต่อการลงทุนสูงสุด นอกจากนี้ยังพบว่า ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์วัน (PGPR-1) สามารถช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้อย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ การจัดการแมลงศัตรูพืชพบว่า การพ่นสาร chlorantraniliprole (Prevathon 5.17%SC) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และ flubendiamide (Takumi 20%WG) อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร สามารถป้องกันกำจัดหนอนเจาะลำต้นข้าวโพดได้ดีสุด การคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสาร thiamethoxam (Cruiser 35%FS), imidacloprid (Provado X 60%FS) และ imidacloprid (Gaucho 70%WS) อัตรา 5, 5, และ 5 กรัมหรือมิลลิลิตรต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟสูงสุด และการพ่นสาร spinetoram (Spinetoram 12%SC) อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟดีที่สุด การป้องกันกำจัดโรคราน้ำค้างพบว่า การเคลือบเมล็ดด้วยสารพอลิเมอร์ผสมสารเคมีไดเมทโทมอร์ฟ (Dimethomorph 50%WP) อัตรา 20 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม สามารถควบคุมโรคได้ดีที่สุด สามารถเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์นาน 4 เดือน และการคลุกเมล็ดก่อนปลูกด้วยสารเคมีไดเมทโทมอร์ฟร่วมกับการพ่นเมื่อข้าวโพดหวานอายุ 10 วัน และพ่นทุก 7 วัน รวมพ่นสาร 3 ครั้ง สามารถลดความเสียหายจากการเข้าทำลายของโรคได้ 69 เปอร์เซ็นต์ การศึกษาด้านวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวพบว่า การเก็บรักษาฝักข้าวโพดหวานแบบปอกเปลือกควรเก็บรักษาในถุง PE สามารถเก็บรักษาได้ 6 วัน โดยที่คุณภาพยังเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค การศึกษาระบบการผลิตและการตลาดข้าวโพดหวานพบว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพดหวานส่วนใหญ่อยู่ในเขตชลประทาน ปลูกเป็นพืชเดี่ยว พืชสลับ หรือปลูกเป็นพืชแซมพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ ในพื้นที่มีโรงงานอุตสาหกรรมข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง เกษตรกรจะปลูกต่อเนื่องตลอดทั้งปี ด้านเศรษฐศาสตร์พบว่า ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยระหว่าง 4,642 - 7,332 บาทต่อไร่ ต้นทุนส่วนใหญ่ใช้ในการซื้อปุ๋ยเคมี ผลผลิตฝักสดที่เกษตรกรผลิตได้เฉลี่ย 1,729 - 2,239 กิโลกรัมต่อไร่ โดยเกษตรกรมีกำไรสุทธิเฉลี่ย 1,277 - 4,326 บาทต่อไร่ จากการจำหน่ายผลผลิตให้กับผู้รวบรวมเพื่อเข้าโรงงาน ในขณะที่การจำหน่ายผลผลิตเพื่อบริโภคฝักสดมีกำไรสุทธิเฉลี่ย 15,130 บาทต่อไร่ เกษตรกรร้อยละ 82 คิดว่าข้าวโพดหวานเป็นพืชที่สร้างรายได้ดี ฤดูการผลิตสั้น มีตลาดรองรับ และมีความคุ้มทุนในการลงทุนผลิต ด้านเทคโนโลยีการผลิตของเกษตรกรพบว่า พันธุ์ที่นิยมปลูกขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดและการส่งเสริมพันธุ์ของบริษัทหรือผู้รวบรวมผลผลิต ในภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันตก ส่วนใหญ่เตรียมดินก่อนปลูก 2 ครั้ง และมีการปรับปรุงดินโดยใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ เช่น มูลไก่ ยกร่องปลูกแบบแถวเดี่ยวหรือแถวคู่ ระยะปลูกมีความแตกต่างกันในแต่ละสภาพพื้นที่ ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนใหญ่ไม่มีการจัดการดินหรือเตรียมดินก่อนปลูก การใส่ปุ๋ยพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ใส่ปุ๋ยรองพื้น โดยจะใส่ปุ๋ยหลังปลูก 2 - 3 ครั้งที่อายุประมาณ 14 25 และ 40 วัน ปุ๋ยครั้งที่ 1 ส่วนใหญ่ใส่ปุ๋ยเคมี 15-15-15 หรือ 46-0-0 การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 และ 3 ส่วนใหญ่ใส่ปุ๋ยเคมี 46-0-0 อัตรา 21 - 40 กิโลกรัมต่อไร่ เกษตรกรบางส่วนใส่ปุ๋ยเกล็ด ฮอร์โมน และสารอื่นๆ เพิ่ม ปัญหาที่เกษตรกรประสบ ได้แก่ปัญหาภัยธรรมชาติ ปัญหาอื่นๆ เช่น ผลผลิตต่ำ การลงทุนสูงเมื่อเทียบกับพืชอื่น ราคาผลผลิตต่ำ ปัจจัยการผลิตมีราคาสูง การทดสอบเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดหวานในแต่ละสภาพพื้นที่แบบเกษตรกรมีส่วนร่วมพบว่า ในจังหวัดปทุมธานีและอุทัยธานี การทดสอบพันธุ์ข้าวโพดหวานของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ พันธุ์ชัยนาท 2 ให้ผลผลิตฝักทั้งเปลือกไม่แตกต่างหรือสูงกว่าพันธุ์การค้าที่เกษตรกรนิยมปลูก โดยให้ผลผลิตทั้งเปลือกเฉลี่ย 2,477 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่การทดสอบข้าวโพดหวานพันธุ์สงขลา 84-1 ในจังหวัดพังงาพบว่า ให้ผลผลิตทั้งเปลือกเฉลี่ย 2,412 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์การค้าที่เกษตรกรนิยมปลูก 13 เปอร์เซ็นต์ มีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5,471 บาทต่อไร่ คิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ การทดสอบเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดหวานของกรมวิชาการเกษตรในจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ การใส่ปุ๋ย ระยะปลูก และการจัดการศัตรูพืช พบว่าวิธีทดสอบให้ผลผลิตฝักสดทั้งเปลือกสูงกว่าหรือไม่แตกต่างจากวิธีที่เกษตรกรใช้อยู่ ระหว่าง 2,305 - 2,446 กิโลกรัมต่อไร่ โดยวิธีทดสอบให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุด 17,937 บาทจากการจำหน่ายเพื่อบริโภคฝักสด เมื่อพิจารณาค่า BCR (Benefit Cost Ratio) หรือสัดส่วนรายได้ต่อการลงทุน พบว่าวิธีทดสอบให้ค่า BCR เฉลี่ยสูงสุด 4.5 ในขณะที่วิธีที่เกษตรกรปฏิบัติมีค่า BCR เฉลี่ย 2.8 การทดสอบเทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารในข้าวโพดหวาน จังหวัดปทุมธานี พบว่าการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรและวิธีที่เกษตรกรปฏิบัติอยู่ ให้ผลผลิตไม่แตกต่างกันระหว่าง 2,156 - 2,435 กิโลกรัมต่อไร่ แต่พบว่าการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินมีค่า BCR มากกว่าวิธีที่เกษตรกรปฏิบัติอยู่ การทดสอบชุดเทคโนโลยีโดยการทดสอบข้าวโพดหวานพันธุ์ชัยนาท 2 ร่วมกับเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดหวานของกรมวิชาการเกษตร ในจังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งมีสภาพดินร่วนปนทรายพบว่า การใช้พันธุ์ชัยนาท 2 ร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินให้ผลผลิตน้ำหนักฝักสดก่อนปอกเปลือกสูงสุด 2,104 กิโลกรัมต่อไร่ และค่า BCR สูงสุดเท่ากับ 4.14 ในจังหวัดบุรีรัมย์และมหาสารคามพบว่า การปลูกข้าวโพดหวานพันธุ์ชัยนาท 86-1 ร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวโพดหวานฝักสดทั้งเปลือก 9 - 18 เปอร์เซ็นต์ สามารถลดต้นทุนปุ๋ยเคมี และต้นทุนการผลิตลงได้เฉลี่ย 31 และ 35 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร 6 - 12 เปอร์เซ็นต์ ในจังหวัดนครราชสีมาซึ่งมีสภาพดินร่วนเหนียว การใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรให้ผลผลิตและรายได้มากกว่าวิธีที่เกษตรกรปฏิบัติ โดยให้ผลผลิต 2,725 กิโลกรัมต่อไร่ รายได้ 18,773 บาทต่อไร่ สามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้เกษตรกร 11 เปอร์เซ็นต์ ด้านการยอมรับเทคโนโลยี พบว่าเกษตรกรมีความพึงพอใจพันธุ์ข้าวโพดหวานและเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร เนื่องจากให้ผลผลิตและรายได้สูงกว่าวิธีที่เกษตรกรปฏิบัติเดิม


ไฟล์แนบ
.pdf   202_2558.pdf (ขนาด: 1.6 MB / ดาวน์โหลด: 19,237)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม