การกักกันพืช
#1
การกักกันพืช
ชลธิชา รักใคร่ 

          งานด้านกักกันพืชมีการปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยพืชเพื่อใช้เป็นข้อต่อรองในการส่งออกและนำเข้า จากการศึกษาศัตรูพืชในประเทศเพื่อการค้าระหว่างประเทศ โดยการสำรวจชนิดของแมลง/ไร/สัตว์ศัตรูพืช โรคพืช และวัชพืชในแปลงปลูกพืชชนิดต่างๆ ของพืชส่งออก ได้แก่ มะละกอ มะพร้าวน้ำหอม ข้าวโพดฝักอ่อน มะม่วง เผือก และฟักทอง พืชนำเข้า ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน หัวพันธุ์ไม้ดอก อ้อย ข้าวฟ่าง มันสำปะหลัง และยาสูบ ได้ข้อมูลศัตรูพืชของพืชที่เป็นการค้าระหว่างประเทศ เช่น รายชื่อศัตรูพืช การจำแนก พืชอาศัย การทำลาย แหล่งที่พบ ความรุนแรงของศัตรูพืช เอกสารอ้างอิง ฯลฯ และรวบรวมตัวอย่างศัตรูพืช เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับสืบค้น และอ้างอิงทางวิชาการที่เชื่อถือได้ในการศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชตามบทเฉพาะกาล ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดนำเข้าจากญี่ปุ่น, ผลพลัมสดนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา, ผลสาลี่สดนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา, ผลพลับสดนำเข้าจากออสเตรเลีย, เมล็ดพันธุ์พิทูเนียนำเข้าจากญี่ปุ่น, ผลอะโวกาโดสดนำเข้าจากเครือรัฐออสเตรเลีย, เมล็ดพันธุ์พริกนำเข้าจากอินโดนีเซีย, ข้าวฟ่างนำเข้าจากอินเดีย, เมล็ดพันธุ์มะเขือเทศนำเข้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน, ผลแอปเปิลสดนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา, เมล็ดพันธุ์พริกนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา, เมล็ดพันธุ์มะเขือเทศนำเข้าจากอิตาลี, ผลมะเดื่อฝรั่งสดนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา, ข้าวฟ่างนำเข้าจากออสเตรเลีย และการศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของพืชตาม พระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ส้มนำเข้าจากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้, เมล็ดพันธุ์ยาสูบนำเข้าจากบราซิล,เมล็ดพันธุ์แคนตาลูปนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา, เมล็ดพันธุ์แตงโมนำเข้าจากญี่ปุ่น, หัวมันฝรั่งเพื่อการแปรรูปนำเข้าจากสาธารณรัฐอินเดียและอียิปต์, ผลพลับสดนำเข้าจากรัฐอิสราเอล และ ผลองุ่นสดนำเข้าจากสหรัฐเม็กซิโก ชนิดศัตรูพืชกักกันและมาตรการทางวิชาการด้านสุขอนามัยพืชสำหรับจัดการความเสี่ยงศัตรูพืชกักกันที่ติดมากับพืชนำเข้าจากต่างประเทศ

          การศึกษาศัตรูพืชกักกันที่ติดมากับพืชนำเข้า ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมัน, เมล็ดพันธุ์พริก, หัวพันธุ์ทิวลิป, เมล็ดพันธุ์กะหล่ำปลี กวางตุ้ง และกะหล่ำดอก, เมล็ดพันธุ์มะเขือยาว, เมล็ดพันธุ์ทานตะวัน, เมล็ดพันธุ์ผักชี, เมล็ดข้าวสาลี, เมล็ดพันธุ์แตงกวา, การศึกษาเชื้อ Columnea latent viroid (CLVd) ที่ติดเข้ามากับเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศ, หัวพันธุ์มันฝรั่ง, เมล็ดพันธุ์ฟักทอง สคว๊อช และแว๊กกราวด์, เมล็ดพันธุ์ทานตะวัน, เมล็ดพันธุ์ข้าวฟ่าง, เมล็ดพันธุ์มะเขือเทศ, เมล็ดพันธุ์ข้าวโพด, หัวพันธุ์แกลดิโอลัส, เมล็ดพันธุ์เมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง, เมล็ดพันธุ์ผักกาดเขียวปลี, เมล็ดพันธุ์ถั่วลันเตา, เมล็ดพันธุ์มะระ, เมล็ดพันธุ์กระเจี๊ยบ, หอมแดงและหอมหัวใหญ่, เมล็ดพันธุ์แครอท, ผลส้ม พริก กระเทียมและองุ่น พบชนิดของศัตรูพืชที่ติดมากับพืชที่นำเข้าจากต่างประเทศและเก็บรักษาตัวอย่างเพื่อเป็นหลักฐานสำหรับสืบค้น และอ้างอิงทางวิชาการที่เชื่อถือได้ ซึ่งศัตรูพืชที่พบไม่ใช่ศัตรูพืชกักกันของประเทศไทย

          จากการวิจัยและพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบศัตรูพืชกักกัน ได้แก่ การผลิตแอนติซีรัมของเชื้อไวรัส Potato virus A ทำให้ชุดตรวจเชื้อไวรัสกับหัวพันธุ์มันฝรั่งและจากการพัฒนาเทคนิคการตรวจวินิจฉัยเชื้อ Acidovorax avenae subsp. citrulli ด้วยวิธี PCR-ELISA สามารถตรวจสอบศัตรูพืชกักกันได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และแม่นยำเหมาะสมกับงานด้านกักกันพืช

          ในส่วนของการวิจัยและพัฒนาวิธีกำจัดศัตรูพืชกักกันเพื่อการส่งออก คือ การกำจัดแมลงด้วยความร้อนสำหรับกำจัดแมลงวันผลไม้ในผลแก้วมังกร, ผลมะนาว, ผลมะละกอ, ผลลำไย ได้อุณหภูมิและเวลา รวมถึงสภาพที่เหมาะสมในการกำจัดแมลงวันผลไม้ของพืชแต่ละชนิด

          จากการสำรวจเฝ้าระวังศัตรูพืชกักกันกับพืชอาศัยในแปลงปลูกตามภาคต่างๆ ได้แก่ ไรแดง Amphitetranychus viemmensis (Zacher) ศัตรูพืชกักกันของแอปเปิ้ล, เพลี้ยแป้ง Cataenococcus hispidus Green และ Planococcus lichi Cox ในลิ้นจี่, หนอนเจาะผล Cryptophlebia ombrodelta ในลิ้นจี่, เพลี้ยไก่แจ้ (Trioza erytreae (Del Guercio) ในแหล่งปลูกส้มจังหวัดเชียงใหม่, ราเขม่าดำ Urocystis cepulae ในพื้นที่ปลูกหอมแดงและกระเทียม, ราสนิมข้าวโพด Puccinia polysora และ P. sorghi, ราน้ำค้างข้าวโพด: Peronosclerospora philippinensis, แบคทีเรีย Pseudomonas syringae pv. syringae ในพื้นที่ปลูกหอมแดงและกระเทียม, Pantoea agglomerans ในพื้นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด, โรคไวรัสของมันฝรั่งที่เกิดจากไวรัส PVA, PVM, PVT, PVX, PVS และ PLRV, แบคทีเรีย Clavibacter michiganensis subsp. michiganensis (Smith) Davis. ในพื้นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศ, ไร Tyrophagus similis Volgnin และ Sancassania mycophagus (Megnin) ของหอมแดง หอมหัวใหญ่และ กระเทียม, ราสนิม (Tropical Corn Rust) : Physopella zeae (Mains) Cummins & Ramachar และ (Common Corn Rust) : Puccinia sorghi Schwein. ในข้าวโพด, ราน้ำค้าง (Graminicola Downy Mildew) : Sclerospora graminicola (Sacc.) J. Schröt. และ (Philippine Downy Mildew) : Peronosclerospora philippinensis (W. Weston) C.G. Shaw ในข้าวโพด, รา Clavicep ในประเทศไทย, แบคทีเรีย Pseudomonas syringae pv. lachrymans ในพืชตระกูลแตง, แบคทีเรีย Pseudomonas syringae pv. syringae ในพื้นที่ปลูกข้าวโพด ไม่ปรากฏศัตรูพืชดังกล่าวในประเทศไทย


ไฟล์แนบ
.pdf   166_2558.pdf (ขนาด: 835.71 KB / ดาวน์โหลด: 16,621)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม