วิจัยและพัฒนาการผลิตหวายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
#1
วิจัยและพัฒนาการผลิตหวายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
จุฑามาส ศรีสำราญ, พรทิพย์ แพงจันทร์, วีระวัฒน์ ดู่ป้อง, ศิริรัตน์ เถื่อนสมบัติ, กิติพร เจริญสุข และญาณิน สุปะมา

          โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตหวายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจรวบรวม และคัดเลือกพันธุ์หวาย วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหวายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ดำเนินการในปี 2557 - 2558 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร มี 2 การทดลอง คือ 1) การรวบรวมและ คัดเลือกพันธุ์หวายให้ผลผลิตและคุณภาพหน่อสูงจังหวัดสกลนคร โดยรวบรวมและคัดเลือกพันธุ์หวายจากแหล่งต่างๆ ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน นำมาปลูกที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร ศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ ผลผลิต และคุณภาพผลผลิต 2) ศึกษาการใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพหน่อหวาย จังหวัดสกลนคร วางแผนการทดลองแบบ 4x3 Factorial in RCBD 4 ซ้ำ ปัจจัยที่ 1 ใส่ปุ๋ยคอก มี 4 ระดับ คือ 1) ไม่ใส่ปุ๋ยคอก 2) ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 1 ตันต่อไร่ 3) ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 2 ตันต่อไร่ และ 4) ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 3 ตันต่อไร่ ปัจจัยที่ 2 ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 มี 3 ระดับ คือ 1) ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี 2) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ และ 3) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ละ plot ปลูก 16 ต้น เก็บข้อมูล 4 ต้น ผลการดำเนินงานพบว่า การทดลองที่ 1 รวบรวมพันธุ์หวายได้ 2 พันธุ์ คือ 1) หวายหนามขาว (Calamus floribundus Griff.) และ 2) หวายดง (Calamus siamensis) ข้อมูลการเจริญเติบโตของหวายพันธุ์หนามขาวและหวายพันธุ์หนามแดงมีความสูงเท่ากับ 38.81 และ 36.73 เซนติเมตร ตามลำดับ และมีจำนวนทางใบเฉลี่ย 5.82 และ 5.92 ตามลำดับ จำนวนหน่อต่อหลุมเฉลี่ย 1.25 และ 1.11 หน่อ ตามลำดับ หวายจะให้ผลผลิตได้เต็มที่เมื่อให้น้ำสม่ำเสมอ ให้ปุ๋ยคอกแบบพูนโคนและตัดแต่งหน่อเพื่อให้มีการแตกหน่อและได้คุณภาพเพิ่มขึ้น การใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพหน่อหวายพบว่า จำนวนหน่อหวายมีการตอบสนองต่อปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 2 ตันต่อไร่ ร่วมกับไม่ใส่ปุ๋ยเคมีมีค่าเฉลี่ยสูงสุดเท่ากับ 3.13 หน่อ/หลุม และเมื่อใส่ปุ๋ยเคมีในอัตราสูงขึ้นทำให้จำนวนหน่อหวายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมีค่าเฉลี่ยสูงสุดเท่ากับ 3.44 หน่อ/หลุม น้ำหนักหน่อมีความสอดคล้องกับจำนวนหน่อที่ความเชื่อมั่น 95% โดยพบว่าเมื่อใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 2 ตันต่อไร่ ร่วมกับไม่ใส่ปุ๋ยเคมีมีค่าเฉลี่ยสูงสุดเท่ากับ 2.75 กรัม/หลุม และเมื่อใส่ปุ๋ยเคมีในอัตราสูงขึ้นทำให้จำนวนหน่อหวายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีค่าเฉลี่ยสูงสุดเท่ากับ 2.91 กรัม/หลุม ซึ่งข้อมูลข้างต้นไม่แตกต่างกันทางสถิติที่ค่าความเชื่อมั่น 95% แต่อย่างไรก็ตามผลผลิตและคุณภาพหน่อหวายขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมการตัดหน่อหวายและการจัดการแปลงที่ดี


ไฟล์แนบ
.pdf   151_2558.pdf (ขนาด: 1.17 MB / ดาวน์โหลด: 1,924)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม