การปรับปรุงพันธุ์มะเกี๋ยงเพื่อการแปรรูปเป็นน้้าผลไม้พร้อมดื่ม
#1
การปรับปรุงพันธุ์มะเกี๋ยงเพื่อการแปรรูปเป็นน้้าผลไม้พร้อมดื่ม
สุเมธ อ่องเภา, สากล มีสุข, บุญปิยธิดา คล่องแคล่ว, หทัยกาญจน์ สิทธิทา, กัลยา เกาะกากลาง, อดุลย์ ขัดสีใส, เดชา ยอดอุทา และสุเทพ กาวิลต

          การปรับปรุงพันธุ์มะเกี๋ยงเพื่อการแปรรูปเป็นน้ำผลไม้พร้อมดื่ม มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพันธุ์มะเกี๋ยงที่มีผลผลิตสูงและคุณภาพดี แบ่งออกเป็น 2 สภาพพื้นที่ ประกอบด้วย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลำปาง (สูงจากระดับน้ำทะเล 312 เมตร) และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย (สูงจากระดับน้ำทะเล 1,300 เมตร) ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2555 – 30 กันยายน 2558 โดยในพื้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลำปาง มีต้นมะเกี๋ยงที่ปลูกไว้ทั้งหมด 700 สายต้น พบว่ามีความแตกต่างกันทางสัณฐานวิทยา โดยมีความสูงต้น 1.7 - 12.0 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางโคนต้น 4 – 121 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 1.2 - 10.1 เมตร ในปี 2554 ได้ดำเนินการเปรียบเทียบสายต้นที่รวบรวม จำนวน 45 สายต้น พบว่าสายต้น 022 และ 039 ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 41.5 และ 39.5 กิโลกรัมต่อต้น ตามลำดับ แตกต่างทางสถิติกับสายต้น 003 007 011 013 031 และ 045 ที่ให้ผลผลิตตั้งแต่ 4.00 – 8.25 กิโลกรัมต่อต้น เนื่องจากมะเกี๋ยงเป็นพืชผสมข้ามและขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด ทำให้มีความแตกต่างกันทางพันธุกรรม จึงดำเนินการคัดเลือกพันธุ์จำนวน 8 สายต้นจากมะเกี๋ยงที่ให้ผลผลิตจำนวน 359 ต้น ประกอบด้วย สายต้นลำปาง 116 ลำปาง 138 ลำปาง 242 ลำปาง 308 ลำปาง 312 ลำปาง 396 ลำปาง 397 และ ลำปาง 415 ให้ผลผลิตเฉลี่ยระหว่าง 135 - 223 กิโลกรัมต่อต้น มีขนาดการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ ประกอบด้วยเส้นรอบวงตั้งแต่ 70 - 152 เซนติเมตร ความสูงตั้งแต่ 7.25 - 12.33 เมตร ขนาดทรงพุ่ม 8.42 – 10.28 เมตร นอกจากนั้นยังมีคุณภาพของผลผลิตเหมาะสมในการแปรรูป โดยมีขนาดของผล (กว้าง x ยาว) เฉลี่ย 14.0 - 18.8 x 17.6 - 22.1 เซนติเมตร มีปริมาณเนื้อของมะเกี๋ยงสูงระหว่าง 70.1 – 84.6 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักของผลผลิต เพื่อคัดเลือกพันธุ์มะเกี๋ยงที่มีผลผลิตสูงและคุณภาพดีในแปลงรวบรวมพันธุ์สภาพที่มีการเขตกรรมที่เหมาะสม จึงได้วางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block Design (RCBD) เปรียบเทียบพันธุ์สายต้นมะเกี๋ยง จำนวน 8 สายต้น ประกอบด้วย 1. พันธุ์พื้นเมือง 2. ลำปาง 116 3. ลำปาง 242 4. ลำปาง 508 5. ลำปาง 312 6. ลำปาง 396 7. ลำปาง 397 8. ลำปาง 415 จำนวน 4 ซ้ำ หน่วยการทดลองละ 10 ต้น ระยะปลูก 4 x 5 เมตร พื้นที่ 6 ปลูกเมื่อ 12 กันยายน 2556 พบว่าสายต้นลำปาง 312 มีอัตราการเจริญเติบโตที่ 12 18 และ 24 เดือน มากที่สุด ขนาดเส้นรอบวงเฉลี่ย 2.7 3.0 และ 16.0 เซนติเมตร ตามลำดับ แตกต่างทางสถิติกับสายต้นพื้นเมืองที่มีอัตราการเจริญเติบโตที่ 12 18 และ 24 เดือน น้อยที่สุดเฉลี่ย 1.6 1.8 และ 9.7 เซนติเมตร ตามลำดับ จากการทดลองนี้ยังต้องมีการศึกษาข้อมูลด้านผลผลิตต่อไป ส่วนสายต้นมะเกี๋ยงที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพพื้นที่สูง จำนวน 5 สายต้น ได้แก่ RIT 1068/9 1068/10 1097/21 1097/26 และ 2150/1 ซึ่งทั้ง 5 สายต้น มีความแตกต่างกันในลักษณะของใบและผล โดยสายต้น RIT 1068/9 และ 1068/10 มีขนาดใบที่ใหญ่ รูปร่างยาวรี แต่ขนาดผลเล็กเนื่องจากติดผลจำนวนมาก ทำให้เปอร์เซ็นต์ผลดีเพียง 20.77 และ 20.78% ตามลำดับ สำหรับสายพันธุ์ RIT 1097/26 มีขนาดและน้ำหนักผลมากที่สุด ความหนาของเนื้อผลค่อนข้างหนา อีกทั้งยังมีเปอร์เซ็นต์ผลดีถึง 53.85% พัฒนาการของใบและผลของมะเกี๋ยงทั้ง 5 สายต้น มีความคล้ายคลึงกัน โดยเริ่มพลัดใบในเดือนกุมภาพันธ์และเริ่มผลิใบในเดือนเมษายน จากนั้นจะเริ่มแทงช่อดอกในเดือนกุมภาพันธ์ และดอกเริ่มบานในเดือนมิถุนายนและในเดือนนี้ก็เริ่มมีการติดผล จากนั้นผลจะเริ่มเปลี่ยนสีในเดือนตุลาคมและสามารถเก็บเกี่ยวได้ในเดือนพฤศจิกายน สำหรับคุณค่าทางด้านโภชนาการนั้นทั้ง 5 สายต้น ให้เบตาแคโรทีนที่ค่อนข้างสูง โดยสายพันธุ์ RIT 1068/9 ให้เบตาแคโรทีนสูงที่สุด นอกจากนี้ยังมีโพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม และวิตามินบี 2 ในปริมาณที่ค่อนข้างสูง โดยสายพันธุ์ RIT 1068/10 ให้ทั้งวิตามินบี 1 และ 2 ที่ค่อนข้างสูง


ไฟล์แนบ
.pdf   139_2558.pdf (ขนาด: 2.64 MB / ดาวน์โหลด: 1,886)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม