โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตเผือก
#1
โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตเผือก
ทวีป หลวงแก้ว, ณรงค์ แดงเปี่ยม และเสงี่ยม แจ่มจำรูญ

          เชื้อพันธุกรรมและลักษณะทางพันธุกรรมเป็นหัวใจสำคัญในการปรับปรุงพันธุ์เผือก จึงได้ดำเนินการรวบรวมพันธุ์เผือกจากแหล่งต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศจำนวน 310 สายพันธุ์ ระหว่างปี 2554 - 2558 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร เพื่อศึกษาพันธุ์และจำแนกพันธุ์เผือกทางลักษณะสัณฐานวิทยาและลักษณะทางการเกษตร สำหรับใช้เป็นแหล่งพันธุกรรมในการปรับปรุงพันธุ์ ขั้นตอนการดำเนินงาน 1) สำรวจแหล่งปลูก 2) การรวบรวมพันธุ์ และ 3) ศึกษาและจำแนกพันธุ์ บันทึกข้อมูลลักษณะที่สำคัญ 23 ลักษณะ (ดัดแปลงจาก Descriptors for Taro ของ IPGRI) ทำการศึกษาในแปลงรวบรวมพันธุ์ สามารถจำแนกความแตกต่างของพันธุ์และลักษณะที่สำคัญได้ดังนี้ ชนิดเชื้อพันธุ์ (germplasm type) พบว่า เป็นพันธุ์เพาะปลูก (cultivar) 275 สายพันธุ์ พันธุ์ที่ได้จากการผสมพันธุ์ 16 สายพันธุ์ และพันธุ์ที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพ 19 สายพันธุ์ เป็นเผือกชนิดหัวใหญ่หัวเดียว (dasheen) 303 สายพันธุ์ ชนิดหัวไม่ใหญ่และมีหัวเล็กๆ ล้อมรอบ (eddoe) 7 สายพันธุ์ ด้านสีเนื้อพบสายพันธุ์ที่มีเนื้อสีม่วง 237 สายพันธุ์ เนื้อสีเหลือง 36 สายพันธุ์ เนื้อสีขาว 17 สายพันธุ์ เนื้อสีแดงม่วง 11 สายพันธุ์ และเนื้อสีชมพู 9 สายพันธุ์ การออกดอกพบว่า สายพันธุ์ส่วนใหญ่ไม่ออกดอกพบสายพันธุ์ที่ออกดอก 23 สายพันธุ์ ด้านการต้านทานโรคใบไหม้พบว่า มี 17 สายพันธุ์ที่ต้านทานโรคใบไหม้ ด้านอายุเก็บเกี่ยวพบสายพันธุ์ที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น (4 - 6 เดือน) 14 สายพันธุ์ อายุเก็บเกี่ยวปานกลาง (6 - 8 เดือน) 279 สายพันธุ์ และอายุเก็บเกี่ยวช้า (8 - 10 เดือน) 17 สายพันธุ์ สำหรับน้ำหนักหัวพบ 280 สายพันธุ์ ที่มีน้ำหนักหัวปานกลางระหว่าง 0.50 - 2.00 กิโลกรัม พบ 30 สายพันธุ์ ที่มีขนาดหัวเล็กน้ำหนักหัวระหว่าง 0.25 - 0.50 กิโลกรัม ทางด้านคุณภาพการบริโภคพบสายพันธุ์ที่มีคุณภาพการบริโภคพอใช้ได้ 162 สายพันธุ์ พบสายพันธุ์ที่มีคุณภาพการบริโภคไม่ดี 21 สายพันธุ์ และพบสายพันธุ์ที่มีคุณภาพการบริโภคได้ดี 127 สายพันธุ์ จากข้อมูลเชื้อพันธุกรรมเหล่านี้สามารถใช้เป็นฐานข้อมูลของพันธุ์เผือกในประเทศไทย เป็นประโยชน์สำหรับการแลกเปลี่ยนเชื้อพันธุกรรมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์ซึ่งการปรับปรุงพันธุ์พืชเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มผลผลิตให้มีคุณภาพเป็นไปตามความต้องการของประเทศ ได้ทำการทดลองการเปรียบเทียบพันธุ์เผือกเพื่อบริโภคสด เพื่อให้ได้พันธุ์เผือกที่ให้ผลผลิตสูง ผลผลิตมีคุณภาพดี เหมาะสมสำหรับรับประทานและแปรรูปเป็นอุตสาหกรรม วางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block มี 4 ซ้ า 12 กรรมวิธี ประกอบด้วยพันธุ์เผือก THA044 THA088 THA097 THA025 THA144 THA010 THA007 THA 039 THA005 THA157 THA180 และพิจิตร1 (check) จากการทดลองพบว่า ความสูงของต้น เส้นรอบวง โคนต้น จำนวนหน่อต่อต้น ความถี่ของหน่อ ความกว้างของหัว และผลผลิตต่อไร่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนความยาวของหัวไม่แตกต่างกันทางสถิติ พบสายพันธุ์ THA180 มีความสูงของต้น สูงที่สุด 133.00 เซนติเมตร สายพันธุ์ THA157 มีเส้นรอบวงโคนต้นกว้างที่สุด 36.75 เซนติเมตร และมีขนาดของหัวกว้างและยาวที่สุด 12.17 และ 21.13 เซนติเมตรตามลำดับ และสายพันธุ์ THA157 ให้ผลผลิตต่อไร่สูงที่สุดที่ 4,216.25 กิโลกรัม ขณะที่สายพันธุ์ THA007 ให้ผลผลิตต่อไร่รองลงมาที่ 4,010.00 กิโลกรัม สายพันธุ์ THA025 มีจำนวนหน่อต่อต้นน้อยที่สุด 3.25 หน่อ สายพันธุ์ THA097 มีความถี่ของหน่อห่างที่สุด 16.10 เซนติเมตร สายพันธุ์ THA157, THA088, THA007, THA039 และพิจิตร1 ได้รับความนิยมของผู้บริโภคมากที่สุดในระดับที่ดี (4 คะแนน) จากการทดลองเปรียบเทียบพันธุ์เผือกเพื่อบริโภคสดทำให้ได้เผือกสายพันธุ์ THA157 และ THA007 ที่สามารถนำไปปลูกทดสอบกับพันธุ์ของเกษตรกรในปี 2559 - 2560 เพื่อที่จะเสนอเป็นพันธุ์แนะนำต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   114_2558.pdf (ขนาด: 3.99 MB / ดาวน์โหลด: 6,437)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 6 ผู้เยี่ยมชม