การหาความสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมกับผลผลิตไม้และสมบัติเนื้อไม้ในยางพารา
#1
การหาความสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมกับผลผลิตไม้และสมบัติเนื้อไม้ในยางพารา
ฐิตาภรณ์ ภูมิไชย์, กฤษดา สังข์สิงห์, กรรณิการ์ ธีระวัฒนสุข และเฉลิมพล ภูมิไชย์
กลุ่มวิชาการ สถาบันวิจัยยาง, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุราษฎร์ธานี, ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา สถาบันวิจัยยาง และภาควิชาพืชไร่นา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

          การปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ยางพาราที่มีคุณภาพไม้ที่ดีเป็นหนทางหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าของไม้ยางพารา โดยการใช้เทคนิคทางเครื่องหมายโมเลกุล (Molecular Marker) เป็นวิธีการหนึ่งที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการปรับปรุงพันธุ์ ในการวิจัยนี้ได้ศึกษายีนที่มีความสัมพันธ์กับการแสดงออกในการควบคุมการให้ผลผลิตไม้และสมบัติของเนื้อไม้ในยางพารา เพื่อนำมาสร้างเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกพันธุ์ยาง และศึกษาคุณสมบัติทางเคมี คุณสมบัติเชิงกล และปัจจัยด้านอื่นๆ ของไม้ เพื่อตรวจสอบอิทธิพลของสายพันธุ์ที่มีพันธุกรรมแตกต่างกัน สำหรับใช้เป็นดัชนีในการคัดเลือกพันธุ์ยางเพื่อเนื้อไม้ในโครงการปรับปรุงพันธุ์ยางพาราต่อไป ไม้ยางพาราที่คัดเลือกมาศึกษามาจากแปลงเปรียบเทียบพันธุ์ยางพาราขั้นต้นที่มีอายุ 13 ปี ปลูกในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุราษฎร์ธานี วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ (Completely Randomized Design: CRD) ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าองค์ประกอบทางเคมีของไม้ยางพาราได้แก่ ปริมาณเถ้า สารแทรกที่ละลายในเอทานอล-เบนซีน ลิกนิน โฮโลเซลลูโลส แอลฟาเซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส และปริมาณการละลายในด่าง (1% NaOH) มีความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ยางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสายพันธุ์ที่มีคุณภาพเนื้อไม้ดีที่สุดและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมไม้ยางพาราได้แก่ สายพันธุ์ RRI-CH-35-1757 เนื่องจากมีปริมาณแอลฟาเซลลูโลสสูงสุดและมีคุณสมบัติการละลายในด่างต่ำ และจากการวิเคราะห์คุณสมบัติเชิงกลของไม้ได้แก่ ปริมาณความชื้น ความถ่วงจำเพาะ โมดูลัสการแตกหัก โมดูลัสความยืดหยุ่น แรงอัดตั้งฉากเสี้ยน แรงเฉือนขนานเสี้ยน แรงดึงตั้งฉากเสี้ยน ความแข็ง และการฉีกของไม้ พบว่ามีความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นเดียวกัน โดยสายพันธุ์ที่มีความแข็งแรงเชิงกลสูงสุดได้แก่ พันธุ์ RRIM 600 ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวจึงน่าจะได้คัดเลือกเพื่อการนำไม้มาใช้เพื่อผลิตเฟอร์นิเจอร์ จากการวิเคราะห์ SNP (Single Nucleotide Polymorphism) พบตำแหน่ง SNP ที่มีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตและสมบัติไม้ทั้งหมด 40 ตำแหน่ง ผลการศึกษาครั้งนี้เป็นประโยชน์ในการนำตำแหน่ง SNP ที่ได้มาใช้เป็นเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกพันธุ์ยางที่มีคุณสมบัติไม้ที่ดี ในโครงการการปรับปรุงพันธุ์ยางเพื่อเนื้อไม้ และพันธุ์ยางเพื่อผลผลิตและเนื้อไม้ต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   286_2556.pdf (ขนาด: 2.03 MB / ดาวน์โหลด: 1,327)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม