การศึกษาการผลิตกลีเซอรีนบริสุทธิ์โดยวิธีการกลั่น
#1
การศึกษาการผลิตกลีเซอรีนบริสุทธิ์โดยวิธีการกลั่น
สุจิตรา พรหมเชื้อ, วิชณีย์ ออมทรัพย์สิน, เพ็ญศิริ จำรัจฉาย และวัชรี ศรีรักษา

          การศึกษาการผลิตกลีเซอรีนบริสุทธิ์โดยวิธีการกลั่น มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเทคนิคการกลั่นกลีเซอรีนให้มีความบริสุทธิ์สูงตามเกณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรมกลีเซอรีนบริสุทธิ์ เพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ ต่อไป ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี ระหว่างเดือนตุลาคม 2549 ถึงกันยายน 2551 โดยการเติมกรดไฮโดรคลอริกที่อัตราส่วน 6% โดยน้ำหนักของวัตถุดิบกลีเซอรีนในกลีเซอรีนที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตไบโอดีเซล จากปฏิกิริยาทรานเอสเตอริฟิเคชั่นของน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ซึ่งเมื่อผ่านการเติมกรดไฮโดรคลอริกเพื่อแยกสบู่ออกและปรับให้เป็นกลางด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ กลีเซอรีนที่ได้มีความบริสุทธิ์ 83.20% ปริมาณน้ำ 11 - 12% โซเดียมคลอไรด์และสารอินทรีย์ที่ไม่ใช้กลีเซอรีน 5.39% และ pH 7 จากนั้นทำการกลั่นกลีเซอรีนด้วยชุดเครื่องกลั่นบริสุทธิ์กลีเซอรีนด้วยระบบสุญญากาศขนาด 2 ลิตร ในห้องปฏิบัติการพบว่า สามารถกลั่นน้ำได้ 11.41% ที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส และความดัน 7 Torr และการกลั่นของผสมกลีเซอรีนที่อุณหภูมิสูงกว่า 180 องศาเซลเซียส ความดัน 2 Torr ได้กลีเซอรีนที่มีความบริสุทธิ์มากกว่า 98% สูงกว่าที่ความดัน 4 6 และ7 Torr จากการวิเคราะห์คุณสมบัติทางฟิสิกส์และเคมีของกลีเซอรีนที่กลั่นที่อุณหภูมิ 186 - 195 องศาเซลเซียส และความดัน 2 Torr พบว่า กลีเซอรีนมีความบริสุทธิ์ 99.50 - 99.68%, ค่าสี (X 0.37, Y 0.35, Z 0.13) ปริมาณน้ำ 0.315 - 0.522%, ไม่พบเถ้าซัลเฟต สารหนู 0.95 - 1.08 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่ว < 0.026 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปริมาณคลอไรด์ 0.0086% ปริมาณเหล็กและซัลเฟต < 0.002 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ pH 5.43 เมื่อทำการเปรียบเทียบกลีเซอรีนบริสุทธิ์ที่ได้กับมาตรฐานผลิตภัณฑ์กลีเซอรีนบริสุทธิ์มีแนวโน้มที่จะผ่านเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกลีเซอรีนบริสุทธิ์ชั้นคุณภาพเคมี และชั้นคุณภาพอุตสาหกรรม


ไฟล์แนบ
.pdf   1028_2551.pdf (ขนาด: 1.7 MB / ดาวน์โหลด: 1,384)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม