การตรวจหา PVY strains และการประเมินความเสียหายของผลผลิตมันฝรั่งจากเชื้อ PVY ในไทย
#1
การตรวจหา PVY strains และการประเมินความเสียหายของผลผลิตมันฝรั่งจากเชื้อ PVY ในประเทศไทย
สุรภี กีรติยะอังกูร, สิทธิศักดิ์ แสไพศาล, วิวัฒน์ ภาณุอำไพ, เยาวภา ตันติวานิช และปรียพรรณ พงศาพิชณ์
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ประเทศไทยยังขาดข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเรื่อง strain และความเสียหายของผลผลิตมันฝรั่งที่เกิดจากเชื้อ Potato virus Y (PVY) จึงได้ดำเนินการวิจัยโครงการนี้ขึ้นโดยแบ่งออกเป็น 2 การทดลอง การทดลองแรกเป็นการตรวจหา strain ของเชื้อ PVY ในประเทศไทย โดยออกสำรวจและสุ่มเก็บตัวอย่างโรคใบด่างของมันฝรั่ง จากแปลงเกษตรกรในทุกแหล่งปลูกของประเทศ เช่น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ทั้งฤดูฝนและฤดูหนาวเป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 - 2550 โดยเก็บตัวอย่างที่มีอาการด่างจากแปลงปลูกในลักษณะการเดินเก็บแบบรูปตัว M มาจำนวน 50 ตัวอย่าง ต่อแปลงที่มีขนาดประมาณ 10-15 ไร่ นำมาตรวจจำแนกครั้งที่ 1 ด้วยวิธี Nitrocellulose Membrane-Enzyme Link Immunosorbent Assay (NCM-ELISA) กับแอนติซีรัมของเชื้อ Potato virus S (PVS), Potato virus X (PVX), PVY และ Potato leafroll virus (PLRV) ที่เป็นชนิด polyclonal antiserum ด้วยวิธี NCM-ELISA พบว่า ตัวอย่างที่เป็นโรคใบด่าง 90 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากเชื้อ PVY จึงนำมาตรวจจำแนกครั้งที่ 2 โดยแยกเป็น strain ใช้แอนติซีรัมที่เป็น monoclonal ของ strain PVYo และ PVYn ตรวจสอบด้วยวิธี NCM-ELISA และวิธี Reverse Transcriptase-Polymerase Chain Reaction (RT-PCR) กับชุด primers ของ PVYntn พบว่า หัวพันธุ์ที่นำเข้ามาจากสก็อตแลนด์ติดเชื้อ PVY ที่เป็น strain PVYn และ PVYo ส่วนหัวพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลียตรวจพบแต่ PVYo ชนิดเดียว จึงสรุปได้ว่ามีเพียง PVYo และ PVYn เพียง 2 strains ที่ติดเข้ามากับหัวพันธุ์ ส่วน strain อื่นๆ ตรวจไม่พบรวมทั้ง PVS, PVX และ PLRV การทดลองที่สอง เป็นการประเมินความเสียหายของผลผลิตมันฝรั่ง ที่เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อ PVY จากการทดลองปลูกและเก็บข้อมูล 3 ฤดู ที่ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเชียงใหม่ (ฝาง) และแปลงของเกษตรกรที่อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ได้วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 7 ซ้ำ 3 กรรมวิธี คือกรรมวิธีที่ 1 ใช้หัวพันธุ์ ปลอดโรค 100 เปอร์เซ็นต์ (T1) กรรมวิธีที่ 2 ใช้หัวพันธุ์เป็นโรค 100 เปอร์เซ็นต์ (T2) และกรรมวิธีที่ 3 ใช้หัวพันธุ์เป็นโรค 4 เปอร์เซ็นต์ (T3) โดยปลูกเป็น 2 ลักษณะคือ ปลูกในโรงกางมุ้ง และปลูกนอกมุ้งตามปกติ การเตรียมหัวพันธุ์เหมือนกันเป็น 2 ชุดสุ่มตรวจการเกิดโรค 3 ครั้งๆ แรกเมื่อหัวเริ่มงอก ครั้งที่ 2 ระยะก่อนออกดอก และครั้งที่ 3 ก่อนเก็บผลผลิต 2 สัปดาห์ ผลการตรวจแปลงนอกมุ้งซึ่งควบคุมสภาพแวดล้อมได้ยาก พบว่า กรรมวิธีที่ 1 และ 3 ติดโรคใบด่างจากเชื้อ PVY ในอัตราสูงถึง 80 - 90 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ระยะก่อนออกดอก และเมื่อสุ่มตรวจโรคก่อนเก็บผลผลิต 2 สัปดาห์ พบว่า ทุกกรรมวิธีเป็นโรค 100 เปอร์เซ็นต์ และให้น้ำหนักผลผลิตรวมไม่แตกต่างกัน แต่มีความแตกต่างกันทางคุณภาพของขนาดหัวมันฝรั่ง โดยกรรมวิธีที่ 2 ที่ใช้หัวพันธุ์เป็นโรค 100 เปอร์เซ็นต์ (T2) มีปริมาณหัวมันขนาดเล็กกว่า 45 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นขนาดหัวมันตกเกรดส่งโรงงานไม่ได้มากกว่าหัวพันธุ์ปลอดโรค (T1) และ หัวพันธุ์ติดโรค 4 เปอร์เซ็นต์ (T3) ทำให้ความสูญเสียของผลผลิตมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และพบว่าในโรงกางมุ้งมีอุณหภูมิสูงและอบอ้าวมากกว่าแปลงนอกมุ้งเฉลี่ยตลอดฤดู 3-4 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของมันฝรั่งและเชื้อไวรัส ผลการทดลองได้น้ำหนักผลผลิตรวมและคุณภาพของผลผลิต T1 และ T3 มากกว่า T2 แต่ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ เช่นเดียวกันกับการปลูกมันฝรั่งในแปลงนอกมุ้ง การปลูกมันฝรั่งในฤดูฝนให้ผลผลิตน้อยกว่าฤดูหนาวถึง 3.4 เท่า


ไฟล์แนบ
.pdf   651_2551.pdf (ขนาด: 1.39 MB / ดาวน์โหลด: 600)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม