การวิจัยและพัฒนากาแฟอาราบิก้าแบบครบวงจร
#1
การวิจัยและพัฒนากาแฟอาราบิก้าแบบครบวงจร
มานพ หาญเทวี, อุทัย นพคุณวงศ์, สากล มีสุข, ประสงค์ มั่นสลุง, กำพล เมืองโคมพัส, เสงี่ยม แจ่มจำรูญ และปิยนุช นาคะ 
ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 เชียงใหม่

         กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการโครงการวิจัยและพัฒนากาแฟอาราบิก้า ตั้งแต่ปี 2528 - 2547 ผลการดำเนินงานพบว่า ปี 2528 - 2531 สามารถคัดเลือกต้นที่มีลักษณะดี ต้นเตี้ย ข้อสั้นให้ผลผลิตสูงสม่ำเสมอ มีคุณภาพและต้านทานโรคราสนิม 100 เปอร์เซ็นต์ จากกลุ่มสายพันธุ์ Catimor ลูกผสม  CIFC 7963 จำนวน 10 สายพันธุ์ ปี 2532 - 2539 คัดเลือกต้นจากสายพันธุ์ลูกผสมตัวเองชั่วที่ 7  สามารถคัดเลือกได้จำนวน 3 สายพันธุ์ ที่ต้านทานต่อโรคราสนิม 100 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ สายพันธุ์ Catimor CIFC 7963-13-28,Catimor CIFC 7963-51-7 และ Catimor CIFC 7963-661-36 ปี 2539-2544 ได้ทำการเปรียบเทียบสายพันธุ์ (ใช้เมล็ด F8 จากต้นคัดเลือก) จำนวน 3 สายพันธุ์ กับพันธุ์เปรียบเทียบ 7 พันธุ์ โดยสายพันธุ์ Catimor CIFC 7963-13-28 ให้ผลผลิตต่อต้น และสารกาแฟเกรด A สูงสุด และทำการทดสอบสายพันธุ์คัดเลือก 3 สายพันธุ์เปรียบเทียบกับพันธุ์ Caturra ในพื้นที่ปลูก 4 แห่งพบว่า สามารถคัดเลือกสายพันธุ์กาแฟอาราบิก้าที่ต้านทานต่อโรคราสนิมคือ สายพันธุ์ Catimor CIFC 7963-13-28 ลักษณะเด่นคือ ต้านทานโรคราสนิมสูง ให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟดิบ (green bean หรือ coffee bean) เฉลี่ย 5 ปี สูงถึง 215 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ Caturra, Bourbon และ Typica ที่เกษตรกรปลูกทั่วไป ให้ผลผลิตเฉลี่ยเพียง 90 - 120 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ 1.79 - 2.39 เท่า ให้ปริมาณสารกาแฟ เกรด A เฉลี่ย 5 ปี 81.3 - 87.3 เปอร์เซ็นต์ คุณภาพการชิม (cup quality taste) อยู่ระดับ 6.5 - 7.0 คะแนน (จาก 10 คะแนน) เปรียบเทียบกับ Caturra ได้ 5.5 คะแนน สภาพพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูก คือ เขตภาคเหนือบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 700 เมตรขึ้นไปมีอุณหภูมิเฉลี่ย 18-25 องศาเซสเซียส ปริมาณน้ำฝน ไม่ต่ำกว่า 1,500 มิลลิเมตรต่อปี ข้อจำกัดของพันธุ์คือ ต้องปลูกภายใต้สภาพร่มเงาป่าธรรมชาติหรือระหว่างแถวไม้ผล เช่น มะคาเดเมีย บ๊วย ลิ้นจี่ เนื่องจากไม่ทนต่อสภาวะอากาศร้อนแห้ง ปี 2550 กรมวิชาการเกษตรพิจารณาอนุมัติเป็นพันธุ์รับรองชื่อ เชียงใหม่ 80 นอกจากนี้ยังได้ผลิตเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าพันธุ์จำหน่ายจ่ายแจกให้กับหน่วยราชการ บริษัทเอกชน และเกษตรกรที่สนใจ ปีละประมาณ 300,000 ต้น พื้นที่ปลูก 1,000 ไร่ต่อปี รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิต การแปรรูปให้กับเกษตรกร ตลอดจนภาคเอกชนให้เข้าใจการผลิตกาแฟอาราบิก้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปกาแฟคั่ว ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจการผลิตภายในประเทศ


ไฟล์แนบ
.pdf   649_2551.pdf (ขนาด: 458.96 KB / ดาวน์โหลด: 826)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม