ทดสอบผลของสารป้องกันกำจัดศัตรูมันสำปะหลังต่อแมลงศัตรูธรรมชาติ
#1
ทดสอบผลของสารป้องกันกำจัดศัตรูมันสำปะหลังต่อแมลงศัตรูธรรมชาติ
รจนา ไวยเจริญ, อัมพร วิโนทัย, ประภัสสร เชยคำแหง และพัชรีวรรณ มณีสาคร
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช


          เพื่อทราบผลของสารป้องกันกำจัดศัตรูมันสำปะหลังต่อตัวเต็มวัยแตนเบียนเพลี้ยแป้งสีชมพู; Anagyrus lopezi (De Santis) ได้ทำการทดลองในห้องปฏิบัติการ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ระหว่างตุลาคม 2555 ถึงกันยายน 2556 วางแผนการทดลองแบบ CRD มี 3 ซ้ำ จำนวน 18 กรรมวิธี ทดสอบโดยเคลือบหลอดทดลองด้วยสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในมันสำปะหลังชนิดต่างๆ ที่อัตราแนะนำ หลังจากเคลือบสารฯ แล้ว 0 (หลังผึ่งให้แห้ง), 7 และ 14 วัน ปล่อยตัวเต็มวัยแตนเบียนเพลี้ยแป้งสีชมพูให้สัมผัสสารฯ ตรวจนับจำนวนตัวตายที่ 24 และ 48 ชั่วโมง วิเคราะห์ข้อมูลอัตราการตายและจัดระดับความเป็นพิษของสารฯ ต่อศัตรูธรรมชาติ ตามวิธีการของ IOBC (Hassan, 1994) พบว่า

          สารที่ไม่มีความเป็นพิษ (เปอร์เซ็นต์ตาย <30%) ได้แก่ สารป้องกันกำจัดไร สไปโรมีซิเฟน อัตรา 6 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร และสารเฟนบูทาทินอ็อกไซด์ อัตรา 6 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร และสารกำจัดวัชพืช พาราควอต อัตรา 80 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร

          สารที่มีความเป็นพิษน้อย (เปอร์เซ็นต์ตาย 30–79%) ได้แก่ สารป้องกันกำจัดไร ไดโคโฟล อัตรา 50 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร และสารป้องกันกำจัดแมลง ไวท์ออยล์ อัตรา 50 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร

          สารที่มีความเป็นพิษปานกลาง (เปอร์เซ็นต์ตาย 80–99%) ได้แก่ สารป้องกันกำจัดไร อะมิทราซ อัตรา 30 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร สารป้องกันกำจัดแมลง โพรไทโอฟอส อัตรา 50 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร และสารกำจัดวัชพืช ไกลโฟเซต อัตรา 80 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร และฟลูอะซีฟอป-พีบิวทิล อัตรา 50 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร

          ส่วนสารที่มีพิษร้ายแรง (เปอร์เซ็นต์ตาย >99%) ได้แก่ สารป้องกันกำจัดไร ไพริดาเบน อัตรา 15 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร และเตตระไดฟอน อัตรา 50 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร และสารป้องกันกำจัดแมลง โอเมโทเอต อัตรา 40 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ไทอะมีทอกแซม อัตรา 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร อิมิดาโคลพริด อัตรา 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ไดโนทีฟูแรน อัตรา 20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ไทอะมีทอกแซม/แลมป์ดาไซฮาโลทริน อัตรา 10 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร และมาลาไทออน อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร

          การทดสอบกับด้วงเต่าตัวห้ำ Cryptolaemus montrouzieri Mulsant จะทำในปีถัดไป และนำผลการทดลองไปทดสอบในสภาพโรงเรือนทดลองต่อไป
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 4 ผู้เยี่ยมชม