คัดเลือกแบคทีเรียปฏิปักษ์ที่มีศักยภาพในการควบคุมเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคเน่าเละกล้วยไม
#1
คัดเลือกแบคทีเรียปฏิปักษ์ที่มีศักยภาพในการควบคุมเชื้อแบคทีเรีย Erwinia carotovora subsp. carotovora และ E. chrysanthemi สาเหตุโรคเน่าเละกล้วยไม้
บุษราคัม อุดมศักดิ์, ปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์, ณัฏฐิมา โฆษิตเจริญกุล, สุรีย์พร บัวอาจ และรุ่งนภา คงสุวรรณ์
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยและพัฒนาอารักขาพืช และกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร สำนักวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ

          การคัดเลือกเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคเน่าเละ Erwinia carotovora subsp. carotovora (Ecc) และ E. chrysanthemi (Ech) ที่มีความรุนแรงในการก่อให้เกิดโรครวดเร็วที่สุด พบว่า เชื้อแบคทีเรีย Ecc ไอโซเลท EcK3, EcK4, PA255, EcK1, EcK2, และ EcK5 ส่วนเชื้อแบคทีเรีย Ech ได้แก่ ไอโซเลท PA334, PA392, PA283, EhK2, PA521, และ EhK1 ซึ่งมีความรุนแรงของโรค อยู่ในระดับ 4, 3, 3, 2, 2 และ 2 ตามลำดับ และ 4, 3, 3, 2, 2 และ 2 ตามลำดับ ทำการคัดเลือกเชื้อแบคทีเรีย Ecc ไอโซเลท EcK3 และ Ech ไอโซเลท PA334 เป็นตัวแทนในการคัดเลือกเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ จาก culture collections จำนวน 58 ไอโซเลท และที่แยกเก็บเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์บริเวณผิวใบ จากสวนเกษตรกรจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 12 ไอโซเลท โดยทดสอบประสิทธิภาพด้วยวิธี Paper disc diffusion พบเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ จำนวน 19 ไอโซเลท มีประสิทธิภาพดีในการยับยั้งการเจริญของเชื้อ Ecc และ Ech สาเหตุโรคเน่าเละในกล้วยไม้สกุลหวาย โดยพบ clear zone การยับยั้งเป็นบริเวณกว้างเฉลี่ย 0.22 - 1.45 มิลลิเมตร จากนั้นนำมาทดสอบประสิทธิภาพของแบคทีเรียปฏิปักษ์สายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Ecc และ Ech โดยใช้เชื้อแบคทีเรีย Ecc และ Ech มากกว่าหนึ่งไอโซเลท ที่มีระดับความรุนแรงรองลงมาในการก่อให้เกิดโรค ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย Ecc ไอโซเลท EcK4, PA255, EcK1, EcK2, และ EcK5 และเชื้อแบคทีเรีย Ech ไอโซเลท PA392, PA283, EhK2, PA521, และ EhK1 เพื่อให้เกิดความหลากหลายของเชื้อสาเหตุโรคเน่าเละ พบเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ จำนวน 5 ไอโซเลท ที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคเน่าเละ Ecc และ Ech ได้ดีทุกสายพันธุ์ คือ ไอโซเลท BK2, BK5, BK9, BK12 และ 17W18 โดยพบ clear zone การยับยั้งเป็นบริเวณกว้างเฉลี่ย 0.2 - 1.0 มิลลิเมตร จากนั้นทดสอบอัตราความเข้มข้นของเชื้อสาเหตุโรคและวิธีการปลูกเชื้อสาเหตุโรคบนกล้วยไม้สกุลหวาย ด้วยวิธีการ spray เชื้อสาเหตุโรคที่ผสมผง carborundum เปรียบเทียบกับการปลูกเชื้อโดยวิธีใช้เข็มทำแผล พบว่า การปลูกเชื้อโดยการทำแผลเป็นวิธีปลูกเชื้อดีที่สุด และอัตราความเข้มข้นของเชื้อสาเหตุโรคเหมาะสมที่สุด คือ ที่ความเข้มข้นเซลล์ 108 cfu/ml ซึ่งมีความสามารถในการก่อให้เกิดโรคเร็วที่สุดภายในเวลา 12 ชั่วโมง ต่อจากนั้นทดสอบประสิทธิภาพแบคทีเรียปฏิปักษ์ ในการควบคุมเชื้อแบคทีเรีย Ecc และ Ech ในสภาพโรงเรือน พบว่า เชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ไอโซเลต BK2, BK5, BK9 และ BK12 สามารถควบคุมโรคเน่าเละได้ทั้ง Ecc และ Ech ส่วน ไอโซเลต 17W18 ไม่สามารถควบคุมเชื้อแบคทีเรีย Ecc ได้ เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างเชื้อแบคทีเรีย Ecc และ Ech พบว่า เชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ คือ ไอโซเลต BK2, BK5, BK9 และ BK12 สามารถควบคุมเชื้อแบคทีเรีย Ech ได้ดีกว่า Ecc

          จากการทดสอบอัตราความเข้มข้นของเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์พบว่า cell suspension ความเข้มข้นที่ 108 คือ อัตราที่เหมาะสม โดยก่อนและหลังการปลูกเชื้อด้วย cell suspension ของเชื้อแบคทีเรีย Ecc และ Ech สาเหตุโรคเน่าเละ จากผลการพ่นด้วย cell suspension ของแบคทีเรียปฏิปักษ์ พบว่า เชื้อแบคทีเรียไอโซเลท BK12 มีประสิทธิภาพดีที่สุด ในควบคุมเชื้อแบคทีเรีย Ecc โดยมีค่าเฉลี่ยการเกิดแผลเพียง 2.85 เซนติเมตร ซึ่งแตกต่างจากกรรมวิธีเปรียบเทียบที่ปลูกเชื้อด้วย Ecc เพียงอย่างเดียว ที่มีค่าเฉลี่ย 3.14 เซนติเมตร ส่วนเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ ไอโซเลท BK5 มีประสิทธิภาพในการควบคุมเชื้อแบคทีเรีย Ech ซึ่งมีค่าเฉลี่ยการเกิดแผล 0.28 เซนติเมตร แตกต่างจากกรรมวิธีเปรียบเทียบที่ปลูกเชื้อด้วย Ech เพียงอย่างเดียว โดยมีค่าเฉลี่ย 1.78 เซนติเมตร


ไฟล์แนบ
.pdf   83_2556.pdf (ขนาด: 2.47 MB / ดาวน์โหลด: 3,136)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม