ฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 84 - 4
#1
ฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 84 - 4
ปริญญา สีบุญเรือง, วรยุทธ ศิริชุมพันธุ์, ไพฑูรย์ นาคาพันธุ์, สุริพัฒน์ ไทยเทศ, ศิวิไล ลาภบรรจบ, อมรา ไตรศิริ, นัฐภัทร์ คำหล้า, สาธิต อารีรักษ์, เสรีวัฒน์ จัตตุพรพงษ์, นงลักษณ์ ปั้นลาย, อรรณพ กสิวิวัฒน์, ปรีชา แสงโสดา, รวีวรรณ เชื้อกิตติศักดิ์, เบญจมาศ คำสืบ, เพชรรัตน์ พลชา และกัลยา เกาะกากลาง
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์, ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิษณุโลก, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลพบุรี, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบูรณ์, ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตเลย, ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตสุโขทัย และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา

          เอล นิโญ หรือการเกิดภาวะแห้งแล้งติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ส่งผลกระทบต่อการเข้าทำลายของแมลงปากดูดต่อฝ้ายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลี้ยจักจั่น (Amrasca biguttula Ishida) โดยทำให้ผลผลิตฝ้ายที่ใช้เป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมสิ่งทอได้รับความเสียหายอย่างมาก เกษตรกรจึงต้องใช้สารเคมีป้องกันกำจัดในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อเกษตรกรและเกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสรรค์จึงได้พัฒนาพันธุ์ฝ้ายทนทานต่อการเข้าทำลายของเพลี้ยจักจั่น ในปี 2540 โดยผสมข้ามระหว่างพันธุ์ IRMA 1243 ซึ่งมีใบปกคลุมด้วยขนทำให้ทนทานต่อการเข้าทำลายของเพลี้ยจักจั่นกับพันธุ์ GDPSR 38-136 หรือตากฟ้า 2 ซึ่งเป็นพันธุ์ฝ้ายใบเรียบที่ให้ผลผลิตสูง มีคุณภาพเส้นใยดี และต้านทานโรคใบหงิก แล้วทำการปลูกคัดเลือกในสภาพที่ไม่มีการพ่นสารกำจัดแมลงชนิดดูดซึม เพื่อกำจัดเพลี้ยจักจั่นฝ้ายและเพลี้ยอ่อนตลอดจนมีการปลูกเชื้อทำให้ต้นฝ้ายเป็นโรคใบหงิก เก็บเมล็ดรวมกัน (bulk) จากต้นที่มีขนปกคลุมใบซึ่งไม่ถูกทำลายโดยเพลี้ยจักจั่นฝ้าย ไม่เป็นโรคใบหงิก ให้ผลผลิตดีในชั่วรุ่นที่ 2-4 (F2-F4) และปลูกคัดเลือกแบบต้นต่อแถว (plant to row) ในชั่วรุ่นที่ 5-6 (F5-F6) เพื่อสร้างสายพันธุ์บริสุทธิ์ที่ดี ซึ่งมีความสม่ำเสมอจำนวน 14 สายพันธุ์ จากนั้นทำการประเมินผลผลิตในระหว่างปี 2546-2551 ซึ่งพบว่า ฝ้ายสายพันธุ์ (IRMA1243/GDPSR38-136)-BBBB-4-B หรือพันธุ์ตากฟ้า 84-4 ให้ผลผลิตสูง มีคุณภาพเส้นใยดี และมีความต้านทานต่อโรคใบหงิกในระดับเดียวกับพันธุ์ตากฟ้า 2 ซึ่งเป็นฝ้ายเส้นใยยาว พันธุ์แรกของกรมวิชาการเกษตร แต่มีลักษณะที่เด่นกว่า คือ ใบมีขนปกคลุมทำให้ทนทานต่อการเข้าทำลายของเพลี้ยจักจั่น


ไฟล์แนบ
.pdf   1815_2553.pdf (ขนาด: 110.48 KB / ดาวน์โหลด: 487)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม