วิจัยและพัฒนาการผลิตฟ้าทะลายโจรเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ
#1
วิจัยและพัฒนาการผลิตฟ้าทะลายโจรเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ
จรัญ ดิษฐไชยวงศ์, เสงี่ยม แจ่มจำรูญ, มัลลิกา แสงเพชร, สัจจะ ประสงค์ทรัพย์, จินดา สุภาผล, แสงมณี ชิงดวง, ไกรศร ตาวงศ์, สมพร วนะสิทธิ์, เตือนใจ พุดซัง, พุฒนา รุ่งระวี และวาสนา โตเลี้ยง
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร, สถาบันวิจัยพืชสวน, กลุ่มวิจัยและวิเคราะห์ทางสถิติงานวิจัยเกษตร กองแผนงานและวิชาการ และสถาบันเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          ฟ้าทะลายโจรให้คุณภาพวัตถุดิบไม่สม่ำเสมอซึ่งคุณภาพวัตถุดิบขึ้นอยู่กับปริมาณสารสำคัญประเภทแลคโตน (lactone) มาตรฐานวัตถุดิบสมุนไพรฟ้าทะลายโจรกำหนดให้มีปริมาณแลคโตนรวมไม่น้อยกว่า 6 กรัม/น้ำหนักแห้ง 100 กรัม การวิจัยและพัฒนาการผลิตฟ้าทะลายโจรจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในด้านการเพิ่มผลผลิตและเพิ่มแนวโน้มการสกัดสารสำคัญเพื่อใช้เป็นยา ทั้งนี้ส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจรมีสารสำคัญใช้เป็นยาแก้ไข แก้เจ็บคอ แก้ท้องเสีย การปลูกฟ้าทะลายโจรแบบย้ายกล้าพบว่า ระยะปลูก 30 x 40 เซนติเมตร ให้น้ำหนักสดสูงสุด 3,070 กิโลกรัม/ไร่ ให้น้ำหนักแห้งสูงสุด 776.6 กิโลกรัม/ไร่ และระยะปลูก 30 x 60 เซนติเมตร ให้น้ำหนักสดต่ำสุด 2,372 กิโลกรัม/ไร่ ให้น้ำหนักแห้งต่ำสุด 633.7 กิโลกรัม/ไร่ ระยะปลูก 30 x 60 เซนติเมตร ให้ปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์สูงสุด 6.98 กรัม/น้ำหนักแห้ง 100 กรัม แตกต่างกันทางสถิติกับระยะปลูก 30 x 30 และ 30 x 40 เซนติเมตร ซึ่งให้สารแอนโดรกราโฟไลด์รองลงมาคือ 4.83 และ  3.79 % ตามลำดับ พื้นที่เก็บเกี่ยวที่เหมาะสมของฟ้าทะลายโจรไม่ควรน้อยกว่า 5.76 ตารางเมตร เป็นสี่เหลี่ยมมุมฉากไม่จำกัดรูปร่าง การให้น้ำฟ้าทะลายโจร 80% ของค่าการระเหยสะสม ตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ให้ผลผลิตสูงสุด และปริมาณสารแลคโตนรวมได้มาตรฐาน ปลูกแบบพรางแสงให้ผลผลิตลดลง 50% แตกต่างกันทางสถิติกับปลูกแบบไม่พรางแสง เก็บเกี่ยวผลผลิตแบบแยกส่วนพบว่า ผลผลิตจากส่วนยอดยาว 25 เซนติเมตร ระยะออกดอก 25-50 % ให้ปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์สูงสุดในแต่ละปี ผลผลิตมีความสัมพันธ์ด้านบวกกับปริมาณน้ำ ความยาวนานแสงแดด และอุณหภูมิกลางคืน และปริมาณสารสำคัญมีความผันแปรไปตามสภาพแวดล้อม


ไฟล์แนบ
.pdf   1817_2553.pdf (ขนาด: 111.31 KB / ดาวน์โหลด: 746)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม