การศึกษาลักษณะความเสียหายของลำไยจากวิธีการกำจัดแมลงด้วยความร้อน
#1
การศึกษาลักษณะความเสียหายของลำไยจากวิธีการกำจัดแมลงด้วยความร้อน
สลักจิต พานคำ และอุดร อุณหวุฒิ
กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          อบลำไย (Dimocarpus longan Lour.) พันธุ์อีดอ ด้วยวิธีการกำจัดแมลงด้วยความร้อน 2 กรรมวิธี คือ วิธีการอบไอน้ำ (Vapor Heat Treatment, VHT) และวิธีอบไอน้ำแบบปรับสภาพความชื้นสัมพัทธ์ (Modified Vapor Heat Treatment, MVHT) เพื่อศึกษาความเสียหายของลำไยจากความร้อน และหากรรมวิธีกำจัดแมลงด้วยความร้อนที่เหมาะสมสำหรับลำไย โดยอบลำไยเพิ่มอุณหภูมิภายในสุดผลให้คงอยู่ที่ 46 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 0, 0:30, 1, 1:30, 2 และ 2:30 ชั่วโมง ตามลำดับ และลดอุณหภูมิผลลำไยทันทีหลังสิ้นสุดการให้ความร้อนโดยเป่าด้วยลมนาน 1 ชั่วโมง การอบลำไยด้วยวิธีการอบไอน้ำ (VHT) ลำไยจะอยู่ภายใต้สภาพอากาศร้อนความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ตลอดเวลา ขณะที่วิธีการอบไอน้ำแบบปรับสภาพความชื้นสัมพัทธ์ (MVHT) นั้น ในช่วงแรกของการเพิ่มอุณหภูมิผลลำไยถึง 43 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศเป็น 65 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นความชื้นสัมพัทธ์จะถูกปรับให้เพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ระดับมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

          ลำไยเสียหายจากความร้อนแสดงอาการให้เห็นอย่างเด่นชัด คือ เปลือกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม จากการทดลองนี้ยังไม่สามารถกำหนดวิธีการกำจัดแมลงด้วยความร้อนที่เหมาะสมกับลำไยได้ แต่จากการสังเกตพบว่า ลำไยที่ผ่านความร้อนด้วยวิธีการอบไอน้ำแบบปรับสภาพความชื้นสัมพัทธ์ (MVHT) ลักษณะของเปลือกลำไยจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มมากกว่าลำไยที่ผ่านความร้อนด้วยวิธีอบไอน้ำ (VHT) ดังนั้น ควรจะใช้ลักษณะของลำไยที่แสดงอาการเปลือกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มเป็นข้อกำหนดเพื่อพิจารณาหาวิธีกำจัดแมลงด้วยความร้อนที่เหมาะสมกับลำไย ในการศึกษาวิจัยที่จะต้องดำเนินการต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   1648_2553.pdf (ขนาด: 567.57 KB / ดาวน์โหลด: 1,097)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม