การเฝ้าระวังการแพร่กระจายของด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง, Sternochetus mangiferae ในมะม่วง
#1
การเฝ้าระวังการแพร่กระจายของด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง, Sternochetus mangiferae ในมะม่วง
สราญจิต ไกรฤกษ์, บุษบง มนัสมั่นคง, สัญญาณี ศรีคชา, ยุทธนา แสงโชติ, ศรุต สุทธิอารมณ์ และสุนัดดา เชาวลิตร
กลุ่มบริหารศัตรูพืช และกลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ระหว่างเดือนมีนาคม - เมษายน 2551 เก็บผลมะม่วงจากแหล่งที่ปลูกเพื่อการส่งออกและเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ในพื้นที่การปลูกภาคตะวันตก : ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี เดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2551 เก็บผลมะม่วงในภาคเหนือ : ลำพูน เชียงใหม่ เลือกพันธุ์หลักที่เป็นพันธุ์ที่ปลูกเพื่อการส่งออก ได้แก่ พันธุ์แรด น้ำดอกไม้ หนังกลางวัน มหาชนก และพิมเสน และเก็บจากแปลงมะม่วงพันธุ์ที่ปลูกเพื่อการอุตสาหกรรมแปรรูป ได้แก่ มะม่วงแก้ว โชคอนันต์ เป็นต้น สุ่มเก็บกระจายรอบต้น ๆ ละ 10 ผล จำนวน 20 ต้น/แปลง รวมทั้งผลมะม่วงที่ร่วงหล่นหรือถูกคัดทิ้ง มะม่วงที่สำรวจทางภาคตะวันตกส่วนใหญ่จะมีการจัดการดูแลอย่างดี ได้แก่ พันธุ์น้ำดอกไม้ อกร่อง โชคอนันต์ มันเดือนเก้า มะม่วงแก้ว แก้วลืมรัง ฟ้าลั่น เขียวเสวย เป็นต้น จากการผ่าเมล็ดมะม่วงในอำเภอหัวหิน (1 แปลง) อำเภอสามร้อยยอด (35 แปลง) อำเภอปราณบุรี (3 แปลง) อำเภอกุยบุรี (3 แปลง) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์รวม 42 แปลง และอำเภอวัดเพลง (4 แปลง) อำเภอปากท่อ (2 แปลง) จังหวัดราชบุรีรวม 6 แปลง จำนวนทั้งหมด 11,899 เมล็ด พบด้วงงวงตัวเต็มวัย 11 ตัว ดักแด้ 1 ตัว และหนอน 3 ตัว รวมเป็น 15 ตัว ในภาคเหนือเป็นมะม่วงพันธุ์เขียวมรกตที่อำเภอบ้านโฮ่ง (2 แปลง) จังหวัดลำพูนพบด้วง 1 ตัว ส่วนที่อำเภอพร้าว (1 แปลง) อำเภอเชียงดาว (1 แปลง) อำเภอแม่แตง (1 แปลง) จังหวัดเชียงใหม่รวม 3 แปลง เป็นแปลงมะม่วงแก้วและเขียวมรกตที่ปลูกตามเชิงเขา มีการจัดการดูแลไม่มากนัก จำนวน 2,318 เมล็ด พบด้วงงวงตัวเต็มวัย 147 ตัว ดักแด้ 3 ตัว และหนอน 2 ตัว รวมเป็น 152 ตัว ด้วงทั้งหมดจำแนกชนิดแล้ว คือ Sternochetus olivieri (Faust) Family Curculionidae

          ในปี พ.ศ. 2552 จากพื้นที่การปลูกมะม่วงที่ปลูกเพื่อการส่งออกใน จ.เชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน รวม 15 สวน ผ่าเมล็ดมะม่วงแก้วและมะม่วงโชคอนันต์ประมาณ 4,736 เมล็ด พบด้วงตัวเต็มวัย 40 ตัว ดักแด้ 3 ตัว หนอน 12 ตัว และจำแนกชนิดแล้ว คือ Sternochetus olivieri (Faust) Family Curculionidae ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเก็บผลมะม่วงพันธุ์งามเมืองย่าที่ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา จำนวน 2 สวน ผ่าเมล็ดมะม่วง ประมาณ 12,742 เมล็ด พบด้วงตัวเต็มวัย 548 ตัว ดักแด้ 15 ตัว หนอน 18 ตัว ด้วงงวงที่จำแนกชนิดได้แล้ว คือ Sternochetus olivieri เช่นกัน

          ปี 2553 จากพื้นที่การปลูกมะม่วงใน จ.นครราชสีมา จ.ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี เก็บรวบรวมผลผลิตมะม่วงแก้ว โชคอนันต์ และน้ำดอกไม้ รวม 16 สวน สุ่มผ่าเมล็ดมะม่วง 3,507 เมล็ด พบด้วงงวงตัวเต็มวัย 82 ตัว นำด้วงตัวเต็มวัยมาจำแนกชนิดได้แล้ว คือ Sternochetus olivieri (Faust) อยู่ในวงศ์ Curculionidae อันดับ Coleoptera


ไฟล์แนบ
.pdf   1680_2553.pdf (ขนาด: 122.97 KB / ดาวน์โหลด: 785)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม